ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
เตรียมนำเข้ายารักษาไวรัสตับอักเสบซีกว่า 30,000 แคปซูล ใช้เป็นทางเลือกรักษาผู้ป่วย


 


กรมควบคุมโรค และสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย ประสานนำเข้ายารักษาไวรัสตับอักเสบซีกว่า 30,000 แคปซูล เพื่อใช้เป็นทางเลือกรักษาผู้ป่วย

วันนี้ (29 กันยายน 2559) นายแพทย์อำนวย  กาจีนะ  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้เป็นพาหะของโรคไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรังทั่วโลกประมาณ 130-150 ล้านคน ในประเทศไทยคาดว่ามีผู้เป็นพาหะของโรคประมาณ 4-5 แสนคน โดยพบมากแถบภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ และพบความชุกสูงในผู้ที่มีประวัติใช้ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้นถึงร้อยละ 70-80 ซึ่งความครอบคลุมการเข้าถึงยารักษาโรคดังกล่าวในประเทศไทยยังมีน้อย
          
นายแพทย์อำนวย กล่าวต่อไปว่า         กรมควบคุมโรค ได้รับแจ้งจากผู้บริจาครายหนึ่ง ว่ามีความประสงค์จะบริจาคยาชื่อ Simeprevir ขนาด 150 มิลลิกรัม รวมทั้งสิ้นกว่า 30,000 แคปซูล เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซี หรือ chronic hepatitis C infection ซึ่งเป็นการบริจาคให้โดยไม่คิดมูลค่าและไม่มีเงื่อนไขข้อผูกพันใดๆ โดยยาดังกล่าวเป็นยาที่ใช้ในการรักษาไวรัสตับอักเสบซีในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศในแถบยุโรปและตะวันตก แต่ในประเทศไทยยังไม่มีการนำยาชนิดนี้มาใช้ในการรักษาผู้ป่วย เนื่องจากยามีราคาแพงและปัจจุบันยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนในประเทศไทย นอกจากนี้ สมาคมโรคตับแห่งประเทศไทยยังได้ให้การสนับสนุนว่ายาดังกล่าวเป็นยาที่มีประสิทธิภาพดี มีความปลอดภัย และจะเป็นประโยชน์หากนำมาใช้รักษาผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบเรื้อรังในประเทศ กรมควบคุมโรคจึงจะดำเนินการขอผ่อนผันนำเข้ายา Simeprevir จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และเมื่อนำเข้ายาเข้ามาในราชอาณาจักรแล้ว กรมควบคุมโรคและสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทยจะพิจารณาใช้ยาดังกล่าวแก่ผู้ป่วยตามความเหมาะสมต่อไป
          
กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานโรคตับอักเสบจากไวรัสขึ้นมาเป็นการเฉพาะ เพื่อให้เป็นหน่วยงานที่ประสานความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กรวิชาชีพ และองค์กรอิสระหลายแห่ง เช่น สมาคมโรคตับ มูลนิธิโรคตับ สภากาชาดไทย สมาคมโรคเอดส์แห่งประเทศไทย เป็นต้น  โดยมีนโยบายการจัดการปัญหาโรคไวรัสตับอักเสบ 5 ด้าน คือ 1.การเฝ้าระวังโรค 2.การป้องกันควบคุมโรค 3.การตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อที่ไม่ทราบสถานะของตน 4.การเร่งรัดให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาที่เหมาะสม และ 5.การวิจัยพัฒนาองค์ความรู้ในการป้องกันควบคุมโรคในอนาคต  ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ได้ทบทวนระบบเฝ้าระวังโรคไวรัสตับอักเสบ และกำหนดกรอบแนวทางให้บูรณาการร่วมกับการเฝ้าระวังโรคที่มีช่องทางการติดเชื้อคล้ายๆกัน เช่น โรคเอดส์ และโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์
         
การติดต่อของไวรัสตับอักเสบซี ผู้ป่วยอาจติดเชื้อผ่านการสัมผัสเลือด สารคัดหลั่ง และเพศสัมพันธ์ การใช้เข็มร่วมกัน โดยผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซี จะมีอาการไวรัสตับอักเสบเฉียบพลัน มีไข้ เบื่ออาหาร ปวดจุกชายโครงขวา ตัวเหลือง ตาเหลือง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ซึ่งพาหะไวรัสตับอักเสบ ถึงไม่มีอาการแต่สามารถแพร่เชื้อได้  หากมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 29 ก.ย. 2559 เวลา : 14:10:04

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:07 am