เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2559 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงาน และมอบนโยบายให้คณะกรรมการการถไฟฯ ผู้บริหารระดับสูง และเจ้าหน้าที่การรถไฟฯ ที่ห้องปฏิบัติการชั้น 3 ตึกบัญชาการ การรถไฟฯ พร้อมทั้งมีคณะผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กรมธนารักษ์ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (รฟม.) เข้าร่วมการประชุมเพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกับการรถไฟฯ ในการพัฒนาองค์กรและการบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นตัวแทนกล่าวรายงานผลการดำเนินงานด้านต่างๆ ให้รับทราบ
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังมอบนโยบายการทำงานว่า ในภาพรวมค่อนข้างพอใจในการดำเนินโครงการทุกโครงการของการรถไฟฯ และให้การรถไฟฯ ดำเนินจัดทำแผนแม่บทระยะยาว 10-15 ปี ในการยกระดับพัฒนาประสิทธิภาพการเดินรถเพื่อสร้างรายได้ การบริหารสินทรัพย์ของการรถไฟฯ การบริหารจัดการงบประมาณ รวมถึงการพัฒนาที่ดินของการรถไฟฯ ตลอดจนการเร่งประชาสัมพันธ์โครงการต่างๆ ของการรถไฟฯ ที่เป็นประโยชน์ให้ประชาชนรับทราบ โดยเชื่อว่าการพัฒนาของการรถไฟฯ จะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น และหลังจากนี้ตั้งเป้าหมายให้การรถไฟฯ เป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพ ภายในระยะเวลา 10 ปี โดยต้องมีงบการเงินที่เข้มแข็ง มีรายได้มากกว่ารายจ่าย
ต่อไปสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจเข้ามาดูแผนแม่บทของการรถไฟฯ โดยเฉพาะการบริหารทรัพย์สินพื้นที่ที่มีอยู่เพื่อก่อให้เกิดรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกับจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาบริหารทรัพย์สินโดยตรง เพื่อกำหนดอัตราค่าเช่า ทำเลที่ดินที่จะบริหารจัดการได้อย่างเหมาะสม และร่วมกับภาคเอกชนในการพัฒนาที่ดินแต่ละแปลงให้มีรายได้เพิ่มขึ้น แต่จะต้องไม่มีการขายทรัพย์สินออกไปอย่างเด็ดขาด ตลอดจนจะต้องหารือร่วมกับกรมธนารักษ์ และการเคหะแห่งชาติ ในการนำที่ดินของการรถไฟฯ ไปทำที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย เหมือนการทำการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร นอกจากนี้ การรถไฟฯ ต้องเร่งพัฒนาบุคลกรให้เรียนรู้เทคโนโลยี อบรมตั้งแต่ระดับผู้บริหารไปจนถึงพนักงาน เพื่อให้มีความรู้ที่ทันสมัยสำหรับการเป็นรถไฟยุค 4.0
นายสมคิดกล่าวด้วยว่า ได้มอบนโยบายแก่การรถไฟฯ ในการดำเนินโครงการก่อสร้างระบบรางให้สำเร็จตามเป้าหมาย โดยโครงการรถไฟทางคู่ ระยะแรก 7 เส้นทาง ระยะทาง 995 กิโลเมตร จะต้องเปิดประมูลให้แล้วเสร็จทั้งหมดในปีนี้ ส่วนระยะที่ 2 อีก 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,493 กิโลเมตร ต้องเปิดประมูลทั้งหมดในปี 2560 เพื่อพัฒนาระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ของประเทศ เช่นเดียวกับโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงที่กำลังดำเนินก่อสร้างอยู่ ต้องเปิดให้บริการให้ได้ในปี 2563
ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพ-หัวหิน และเส้นทางกรุงเทพ-ระยอง การรถไฟฯ จะต้องนำเข้าให้ ครม. พิจารณาได้ในปีนี้เช่นกัน เพื่อเป็นการเชื่อมโยงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก รวมถึงโครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีน จะเริ่มก่อสร้างในปี 2560 ด้วย
ข่าวเด่น