หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์พลังงาน บมจ.ไทยออยล์ รายงานสถานการณ์น้ำมัน ประจำวันที่ 30 ก.ย. 2559ราคาน้ำมันดิบเพิ่มต่อหลังข่าวข้อตกลงการกำหนดเพดานการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปก
(+) ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องราว 1 เปอร์เซ็นต์ หลังข่าวการบรรลุข้อตกลงการกำหนดเพดานการผลิตน้ำมันดิบในวันสุดท้ายของการประชุม InternationalEnergy Forum (IEF)เมื่อวันก่อนหน้า โดยกรอบกำลังการผลิตของทางโอเปกอยู่ที่ 32.5 ถึง 33 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 8ปี ตั้งแต่ปี2008 อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันดิบไม่ได้ปรับขึ้นมากนักเนื่องจากนักลงทุนยังคงกังวลว่าข้อตกลงนี้จะมีผลต่อปริมาณน้ำมันดิบที่ยังคงล้นตลาดหรือไม่
(-) นอกจากนี้ นาย Tariq Zahir นักลงทุนจาก Tyche Capital Advisors ในสหรัฐฯ กล่าวว่า ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ไม่สามารถปรับขึ้นไปสูงเกินระดับ 50เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลได้ในขณะนี้ เนื่องจากตลาดบางส่วนยังคงตั้งข้อสงสัยในการกระทำของโอเปกว่าจะเป็นเพียงการออกข่าวเพื่อพยุงราคาน้ำมันดิบเท่านั้น
(-) รวมถึงในปัจจุบันคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำมันดิบล้นตลาดราว 1-1.5ล้านบาร์เรล ขณะที่ปริมาณน้ำมันดิบจากโอเปกจะหายไปราว 700,000บาร์เรล ทำให้ปริมาณน้ำมันดิบยังคงล้นตลาดต่อไป
(-/+) Goldman Sach ประกาศคงตัวเลขคาดการณ์ราคาน้ำมันในปีนี้ และปีหน้า โดยระบุว่าแม้ข้อตกลงของกลุ่มโอเปกจะช่วยหนุนราคาในระยะสั้น แต่ก็จะไม่เปลี่ยนแปลงแนวโน้มปริมาณน้ำมันดิบในอนาคตมากนักโดยราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในปี 2016น่าจะปิดที่ประมาณ 43เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และในปี2017ที่ประมาณ 53เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันเบนซินในภูมิภาคที่ยังอยู่ในระดับสูง ถึงแม้ว่าจะได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากอินโดนิเซียและอียิปต์
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากการส่งออกน้ำมันดีเซลที่ลดลงจากประเทศจีน ร้อยละ 30.4เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับมีอุปสงค์เพิ่มเติมจากประเทศเคนย่า
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์หน้า
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ43-48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 44-49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลงรวมทั้งสิ้นราว 23 ล้านบาร์เรลใน4สัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ระดับ 502.7 ล้านบาร์เรล ซึ่งใกล้เคียงกับปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณน้ำมันดิบนำเข้าสหรัฐฯ ปรับลดลงต่อเนื่อง
จับตาท่าทีของกลุ่มโอเปกและการเจรจาของผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกกับผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปก โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัสเซีย ภายหลังที่สามารถบรรลุข้อตกลงในการคงกำลังการผลิตไว้ที่ระดับ 32.5 -33.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวและสัดส่วนโควตาจะมีการพิจารณาอีกครั้งในการประชุมโอเปกครั้งถัดไปในวันที่ 30พ.ย.
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียและไนจีเรียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุดลิเบียปรับเพิ่มกำลังการผลิตมาอยู่ที่ระดับ 0.48 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากระดับการผลิตในเดือนก่อนหน้าที่ประมาณ 0.3ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังสามารถส่งออกน้ำมันดิบจากท่าเรือ RasLanufได้ในช่วงที่ผ่านมา
โดย หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์พลังงาน บมจ.ไทยออยล์ ประจำวันที่ 30 ก.ย. 2559
ข่าวเด่น