ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
แนะผู้ปกครองจัดอาหาร5หมู่ เน้นผัก ผลไม้ -ห่วงเด็กเสี่ยงอ้วนกินตามปากช่วงปิดเทอม


 


กรมอนามัย เผย เด็กเสี่ยงอ้วนช่วงปิดเทอม เหตุกินตามใจปาก ขาดการควบคุม ย้ำ พ่อแม่ ผู้ปกครอง คุมเข้ม งดอาหารหวาน มัน เค็ม เตรียมอาหารครบ 5 หมู่ เน้นผัก ผลไม้ พร้อมส่งเสริมกิจกรรมทางกายตามช่วงวัย
        
นายแพทย์ณัฐพร วงษ์ศุทธิภากร รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคอ้วนของเด็กวัยเรียนในปัจจุบันพบร้อยละ 13.1 ยังคงอยู่ในอัตราที่สูง โอกาสเสี่ยงของเด็กอ้วนเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่คือ เด็กที่อ้วนตั้งแต่เล็กจนถึง 6 ขวบ เมื่อโตขึ้นจะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วน 1 ใน 4 แต่หากปล่อยให้อ้วนในระยะวัยรุ่น โอกาสเสี่ยงก็จะสูงขึ้นไปอีก 3 เท่า ส่งผลให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่นๆ ตามมา เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น ซึ่งในช่วงปิดเทอมที่เด็กใช้เวลาอยู่บ้านอาจเพิ่มความเสี่ยงสูงที่เด็กจะเป็นโรคอ้วน เนื่องจากกินอาหารตามใจปากและเป็นอาหารที่มีแป้งน้ำตาลไขมัน และอาหารขยะหรือ Junk Food อาหารคุณค่าต่ำแต่มีพลังงานสูง ในปริมาณมาก ผู้ปกครองจึงควรดูแลบุตรหลานเป็นพิเศษโดยการจัดเตรียมอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีของลูก ลดอาหารหวาน มัน เค็ม และเพิ่มผัก ผลไม้รสไม่หวานจัดในทุกมื้ออาหารด้วย
         
นายแพทย์ณัฐพร กล่าวต่อไปว่า ใน 1 วัน เด็กควรได้รับพลังงาน 1,600 กิโลแคลอรี คือ ข้าวหรือแป้ง 8 ทัพพี เนื้อสัตว์ 6 ช้อนกินข้าว ผัก 4 ทัพพี นม 2 แก้ว ผลไม้ครบทุกมื้อ ตัวอย่างเมนูในหนึ่งมื้ออาหาร เช่น รายการที่ 1 ข้าว ไข่ตุ๋นใส่ผักหลากสี อาทิ มะเขือเทศ แครอท ผัดกะหล่ำปลี กล้วยน้ำว้า 1 ลูก รายการที่ 2 ข้าว หมูทอด แกงจืดหมูสับผักกาดขาวเต้าหู้ไข่ ส้มเขียวหวาน 1 ผล และรายการที่ 3 บะหมี่หมูแดงใส่ผักกวางตุ้ง มะละกอ 6 ชิ้นคำ หากเด็กไม่ชอบกินผัก ให้เลือกผักรสชาติไม่ขม อาจสับละเอียดเข้ากับอาหารเพื่อฝึกให้เด็กได้กินผัก นอกจากนี้ พ่อแม่ควรเปิดโอกาสให้เด็กเสนอเมนูอาหารบางอย่างที่ชอบในแต่ละวัน เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม และควรฝึกเด็กให้กินอาหารตรงเวลา ไม่กินจุบจิบ ไม่กินขนมก่อนกินอาหารมื้อหลักเพราะจะทำให้อิ่มจนไม่สามารถกินอาหารมื้อสำคัญได้ ฝึกให้เด็กกินอาหารแต่ละประเภทอย่างพอดี ไม่ให้อาหารเป็นสิ่งต่อรอง เป็นรางวัลหรือ ทำโทษ ควรเตรียมอาหารว่างที่มีประโยชน์ให้เด็กกินตอนสายและตอนบ่าย เช่น ผลไม้สด น้ำผลไม้ ขนมไทยหวานน้อย และให้เด็กดื่มนมวันละ 2 แก้ว ดื่มน้ำสะอาด วันละ 6 - 8 แก้ว
        
"ทั้งนี้ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรส่งเสริมให้เด็กมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมตามช่วงวัย โดยเด็กอายุ 4 -5 ปี เป็นวัยที่ชอบวิ่ง กระโดด ปีนป่าย เตะลูกบอล ซึ่งจะช่วยพัฒนาระบบประสาทและกล้ามเนื้อได้ดี เด็กอายุ 6 - 12 ปี เป็นวัยที่สามารถออกกำลังกายได้ทุกชนิด โดยเฉพาะกีฬาที่เล่นเป็นทีมซึ่งมีกฎและกติกาที่ไม่ซับซ้อน แต่เด็กทุกกลุ่มวัยยังต้องอยู่ในความดูแลของพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือผู้ใหญ่อย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 30 ก.ย. 2559 เวลา : 11:12:33

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:23 am