อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เผยอนาคตอาชีพนวดไทยสดใส ผลวิจัยล่าสุด 2556 ทั้งไทยและเทศต่างยกนิ้วให้ฝีมือการนวดของคนไทยเป็นที่ 1 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชี้พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559 เป็นใบเบิกทางหนุนนวดไทย และผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยเป็นที่รู้จักกว้างขวาง ทั่วทุกมุมโลก
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า เจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559 เพื่อส่งเสริมธุรกิจสถานประกอบการเพื่อสุขภาพทั้งสปา นวดเพื่อสุขภาพหรือเพื่อเสริมความงามให้มีมาตรฐาน เป็นที่เชื่อมั่นในคุณภาพความปลอดภัย และเป็นการส่งเสริมให้ภูมิปัญญาการนวดไทย กลายเป็นอาชีพที่สร้างรายได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากตามกฎหมายฉบับนี้ กำหนดให้ผู้ให้บริการหรือเทอราปีส (Therapist) ทุกคนต้องผ่านการอบรมจากหลักสูตรที่กรมสบส.รับรอง มีใบรับรองคุณวุฒิและขึ้นทะเบียนประกอบอาชีพได้ตลอดชีพ ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมแต่อย่างใด รวมทั้งยังเป็นช่องทางให้ผลิตภัณฑ์สุขภาพจากสมุนไพรไทย เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมากขึ้น เนื่องจากทั่วโลกขณะนี้ มีกระแสนิยมบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติ
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง กล่าวต่อไปว่า ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยรังสิต เมือปี พ.ศ. 2556 พบว่าวัตถุประสงค์หลักของผู้ใช้บริการสปาในไทยทั้งคนไทยและต่างประเทศ คือ เพื่อผ่อนคลาย โดยบริการที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ นวดตัว รองลงมาคือนวดเท้า นวดอโรมา ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่อยู่ที่ครั้งละ 1,500 บาท ซึ่ง 3 ปัจจัยหลักในการเลือกรับบริการสปา คือ ความสะอาด อัธยาศัยไมตรีของผู้ให้บริการ และคุณภาพบริการ ผู้รับบริการชื่นชอบผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่ไม่ปรุงแต่งสารเคมี โดยเฉพาะชาวต่างชาติ เมื่อเปรียบเทียบใน 8 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม พม่า และกัมพูชา พบว่าทักษะฝีมือผู้ให้บริการของไทยอยู่ในอันดับ 1 รองลงมา คืออินโดนีเซีย
ทางด้านนายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559 เน้นการนวดเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ มิใช่เพื่อการบำบัดรักษา ดังนั้น จึงมีการกำหนดหลักสูตรกลาง 11 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรนวดฝ่าเท้า 60 ชั่วโมง, หลักสูตรนวดไทยเพื่อสุขภาพ 150 ชั่วโมง, หลักสูตรผู้ดำเนินการสปา 100 ชั่วโมง, หลักสูตรผู้ให้บริการสปาเพื่อสุขภาพ 500 ชั่วโมง, หลักสูตรการดูแลหญิงหลังคลอดบุตร 150 ชั่วโมง, หลักสูตรนวดไทยสำหรับผู้พิการทางสายตา 255 ชั่วโมง, หลักสูตรการนวดด้วยน้ำมันหอมระเหย 150 ชั่วโมง, หลักสูตรการนวดสวีดิช 150 ชั่วโมง, หลักสูตรการบริหารเพื่อความงาม 150 ชั่วโมง, เช่น การทำทรีทเมนท์ การขัดตัว การเซลลูไลท์, เช่น การอบสมุนไพร การนวดเพื่อสุขภาพหลังคลอด, หลักสูตรนวดไทยเพื่อสุขภาพ 100 ชั่วโมง ต่อยอด 60/80 ชั่วโมง และหลักสูตรการนวดเพื่อสุขภาพชั้นสูง 600 ชั่วโมง เมื่อจบแล้วสามารถนำวุฒิบัตรมาขึ้นทะเบียนที่กรม สบส. และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อใช้ประกอบอาชีพได้ตลอดชีพ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
สำหรับผู้ที่จบการศึกษาหลักสูตรการนวดไทยที่เป็นลักษณะของการบำบัดรักษาหรือส่งเสริมสุขภาพด้วยกรรมวิธีการแพทย์แผนไทย สามารถยื่นขอใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประเภทการนวดไทยจากสภาการแพทย์แผนไทย ตามพระราชบัญญัติการแพทย์แผนไทยพ.ศ. 2556 ได้ ซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์ไทย ประเภทนวดไทย สามารถขออนุญาตเปิดสถานพยาบาลได้ ตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ข่าวเด่น