กระทรวงอุตสาหกรรมเผยผลสำเร็จเวทีประชุม APEC SME ประเทศสมาชิกขานรับแผนยุทธศาสตร์ SME APEC (ปี 2017-2020) ชูแนวทางการมุ่งไปสู่ความทันสมัยของ SMEs ในเอเซียแปซิฟิก โดยมี SME เป็นกลจักรขับเคลื่อนการเติบโตและความเจริญ พร้อมผลักดันการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อยกระดับสินค้าและบริการ สนับสนุนการใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์สร้างโอกาสทางการค้าระหว่างประเทศ และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการประยุกต์ SME สีเขียวเพื่อร่วมรักษาสิ่งแวดล้อม
นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ครั้งที่ 23 เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) โดยนางสาววิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ สสว. ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุม ณ กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู เมื่อวันที่ 8 – 9 กันยายน 2559 ที่ผ่านมานั้น หัวข้อหลักของการประชุมในครั้งนี้คือ SMEs เป็นหัวจักรในการขับเคลื่อนความเจริญเติบโตและความมั่งคั่ง และมีหัวข้อย่อยในการประชุมหารือ 4 ด้านประกอบด้วย 1) การส่งเสริมนวัตกรรม และการเชื่อมโยงเครือข่าย SMEs 2) การสร้างความเข้มแข็งให้ SMEs โดยการแปลงไปสู่ ระบบดิจิทัล 3) การส่งเสริม SMEs ที่ดำเนินธุรกิจอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือ SMEs สีเขียวสู่ห่วงโซ่มูลค่าโลก และ 4) การส่งเสริม SMEs สู่ความเป็นสากล
ประเทศไทยได้นำเสนอกรอบแนวทางในการส่งเสริม พัฒนา SMEs ของไทยซึ่งสอดรับกับยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 ของรัฐบาล ที่มุ่งเป้าในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ ไปสู่ “Value – Base Economy” หรือ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” ให้แก่รัฐมนตรีและผู้แทนจากเขตเศรษฐกิจต่างๆ อีก 20 ประเทศในที่ประชุมได้รับทราบ โดยไทยได้แบ่งแนวทางการส่งเสริม SMEs เป็น 4 กลุ่ม คือ 1) กลุ่ม Startup ที่เน้นสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง 2) กลุ่ม Smart SMEs ที่ต้องเร่งส่งเสริมนวัตกรรมและดิจิทัล 3) กลุ่ม Smart Farmer ที่ปรับเปลี่ยนเกษตรกรเป็นผู้ประกอบการธุรกิจการเกษตรและการเกษตรแปรรูป และ 4) กลุ่ม Global SMEs ที่เชื่อมโยงธุรกิจให้เกิดเป็นเครือข่ายและมุ่งสู่ตลาดสากลได้ ทั้งนี้ ก็เพื่อมุ่งเป้าการเพิ่มสัดส่วนของ GDP จาก SME ให้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 40 ในปัจจุบัน เป็นร้อยละ 50 ในอีก 5 ปี ข้างหน้า
“นอกจากนี้ไทยยังได้มีโอกาสนำเสนอผลสำเร็จจากการจัดการสัมมนาแนวทางการส่งเสริม SMEs สีเขียวหรือ Green SMEs สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยโดย กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. เป็นเจ้าภาพจัดเวทีแลกเปลี่ยนวิธีปฏิบัติที่ดีและระดมสมองเพื่อหาข้อแนะนำเชิงนโยบายในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาโดยมีผู้เข้าร่วมจำนวน 105 คน จากภาครัฐและเอกชนจาก 11 เขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปค ร่วมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจาก UNIDO UNEP OECD และ TDRI ในการนี้ ไทยจะร่วมมือกับเปรูในการต่อยอดแนวคิดดังกล่าวและผลักดันให้เกิดยุทธศาสตร์ในระดับเอเปคเพื่อการส่งเสริม MSMEs (วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และรายย่อย) ให้เป็นธุรกิจสีเขียวเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการได้รับการรับรองจากที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และที่ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคในปี 2560 ในกระบวนการดังกล่าวเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปคจะได้รับรู้ว่ารัฐบาลไทยให้ความใส่ใจอย่างจริงจังในการส่งเสริม MSMEs ให้เป็นธุรกิจสีเขียว” นางอรรชกา กล่าว
เมื่อเสร็จสิ้นการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้ร่วมแถลงผลการประชุมรัฐมนตรี เอเปคด้านวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ครั้งที่ 23 ซึ่งมีกรอบทิศทางการมุ่งไปสู่ความทันสมัยของ SMEs ซึ่งที่ประชุมรัฐมนตรี APEC ให้ความสำคัญกับ 1. การยกระดับความมีนวัตกรรมของ SMEs 2. การส่งเสริมสภาพแวดล้อมและนโยบายที่เอื้อต่อ SMEs 3. การรับประกันการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการส่งเสริมขีดความสามารถของ SMEs ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน 4. การสนับสนุนให้ SME เข้าถึงตลาดโดยผ่านเครื่องมือพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งการลดอุปสรรคทางเทคโนโลยี 5. การส่งเสริม SMEs ที่ดำเนินธุรกิจอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือ SMEs สีเขียวสู่ห่วงโซ่มูลค่าโลก และการผลักดันให้ SMEs เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่คุณค่าโลกด้วยยุทธศาสตร์การเข้าสู่ความเป็นสากล โดยที่ประชุมสนับสนุนการดำเนินนโยบายและมาตรการต่างๆ ทั้งหมดในรูบแบบของ public-private partnership รวมทั้งตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของ SMEs ที่มีต่อ business-to-business (B2B) and business-to-government (B2G) markets นอกจากนี้ที่ประชุมยังให้การรับรองแผนยุทธศาสตร์ฉบับที่ 3 ของคณะทำงานเอเปควิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ปี 2017-2020) ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์ที่คณะทำงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจะใช้ร่วมกันในการขับเคลื่อน SME ในเอเปคไปสู่เป้าหมายคือ การส่งเสริมเพื่อพัฒนา SMEs ในด้านต่างๆ ได้แก่ 1) ความเป็นผู้ประกอบการด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยียุคดิจิตอล 2) แหล่งเงินสำหรับ SME 3) ระบบนิเวศน์ที่ส่งเสริมการเติบโตของ SME และครอบคลุมถึงรายย่อย 4) การเข้าถึงตลาด โดยจะนำสรุปผลการประชุมนำเสนอต่อที่ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ซึ่งกำหนดจัดในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2559 ต่อไปด้วย
ในการนี้ มีข้อสังเกตจากการนำเสนอของเขตเศรษฐกิจสมาชิกว่า ที่ประชุมมีทิศทางเดียวกันในการส่งเสริม SME ทั้งในกลุ่มเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อาทิ จีน สหรัฐฯ เกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไชนีส ไทเป และเขตเศรษฐกิจที่กำลังพัฒนา เช่น ไทย เปรู เม็กซิโก มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ซึ่งล้วนแต่มีนโยบายที่ให้ความสำคัญแก่ SMEs ในฐานะหัวจักรในการขับเคลื่อนและการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเน้นย้ำความสำคัญของ SMEs ที่มีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเป็นแหล่งกำเนิดนวัตกรรมและการจ้างงาน นอกจากนี้ในหัวข้อย่อยในการประชุมข้อที่ 3 คือ การส่งเสริม SMEs ที่ดำเนินธุรกิจอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือ SMEs สีเขียวสู่ห่วงโซ่มูลค่าโลก นั้น เป็นที่น่าสังเกตว่าแม้แต่จีนก็ให้ความสำคัญกับการส่งเสริม SMEs ในด้านนี้เช่นกัน ทั้งนี้ เนื่องจากการเป็นธุรกิจสีเขียวจะเป็นบันไดสำคัญในการเข้าสู่ความเป็นสากลและการเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่คุณค่าโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยความสำคัญ สำหรับข้อสังเกตประการอื่นๆ ที่น่าสนใจคือเขตเศรษฐกิจสมาชิกยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนา SME ให้มีนวัตกรรม และการสนับสนุนให้ SME เข้าถึงตลาดโดยผ่านเครื่องมือพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งการให้บริการแบบครบวงจรแบบออนไลน์แก่ SMEs อีกด้วย
นอกจากนี้ นางอรรชกาฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมยังได้มีโอกาสหารือกับนายเรืองเดช มหาศรานนท์ เอกอัครราชทูต ไทยประจำกรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู พร้อมด้วยผู้ประกอบการไทยในกรุงลิมาประเทศเปรู ในเรื่องทิศทางและแนวโน้มเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศเปรู และโอกาสศักยภาพทางการค้าที่เหมาะสมกับประเทศไทย โดยเปรูเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 4 ในทวีปอเมริกาใต้ รองจากบราซิล อาร์เจนตินา และชิลี มีมูลค่าการค้ารวมประมาณ 560 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 2 หมื่นล้านบาท)
ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมยังได้มีโอกาสหารือความร่วมมือทวิภาคีกับ Dr. Young-sup Joo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของของสาธารณรัฐเกาหลี ในประเด็นการส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งสาธารณรัฐเกาหลียืนยันที่จะขยายฐานการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์มายังประเทศไทย และในประเด็นการส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้เห็นพ้องที่จะร่วมมือกันส่งเสริม SME โดยจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์ที่แต่ละฝ่ายมีความเชี่ยวชาญ เช่น การบ่มเพาะผู้ประกอบการ เทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับSME การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ตลอดจนอุตสาหกรรม ที่เกาหลีมีความเชี่ยวชาญด้วย ทั้งนี้ ไทยและเกาหลีใต้จะได้กำหนดสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมายในการส่งเสริม SMEs ที่จะร่วมมือกันต่อไป
ข่าวเด่น