ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
มท.กำชับผู้ว่าฯ-ผู้บริหารอปท.ใส่ใจแก้ปัญหาปชช.ไม่ให้กระทบภาพลักษณ์ทางราชการ


 


นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้ส่งข้อความผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ถึงผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกจังหวัด เรื่อง มาตรการตรวจสอบแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ว่า ได้ปรากฏข่าวสารการแสดงออกของประชาชนที่เดือดร้อนด้วยการกระทำเชิงสัญลักษณ์ให้เป็นข่าวและสร้างความสนใจทางสื่อต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การให้สัมภาษณ์ตำหนิหน่วยราชการ การส่งจดหมายร้องเรียนหรือการแสดงออกเชิงประชดประชันด้วยการปลูกพืชหรืออาบน้ำบนถนนที่ชำรุดเสียหายและยังไม่มีการซ่อมแซมแก้ไข เพื่อเรียกร้องความสนใจและกดดันให้มีการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น
          
มท.พิจารณาแล้วเห็นว่าเหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้นบางกรณีเป็นการแสดงออกที่เกินเลยกว่าข้อเท็จจริง แต่ก็อาจสร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของทางราชการหรือเกิดความเข้าใจผิดว่า เจ้าหน้าที่ไม่ดูแลแก้ไขปัญหาให้ประชาชน ดังนั้น จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ดำเนินการดังนี้
         
 1.การจัดระบบตรวจสอบและแยกแยะปัญหาของประชาชน : ให้จังหวัดและอำเภอจัดประชุมหารือร่วมกันในการกำหนดแนวทางการสำรวจปัญหาโดยอาจแบ่งเป็น ปัญหาสิ่งสาธารณประโยชน์ประเภทต่างๆ ที่ชำรุดเสียหายจนไม่อาจใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้, ปัญหาที่เกิดจากสาธารณภัยประเภทต่างๆ แต่ยังไม่ได้ดำเนินการแก้ไขมาเป็นเวลานาน เนื่องมาจากติดขัดที่กฎหมายและระเบียบปฏิบัติหรืองบประมาณ และปัญหาความเดือดร้อนทุกข์ยากที่เกิดกับบุคคลหรือครอบครัวที่มีฐานะยากจนหรือด้อยโอกาส คนชรา เด็กกำพร้าหรือเจ็บป่วยเรื้อรัง เป็นต้น
          
2.การติดตามปัญหาของประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดและอำเภอเป็นช่องทางรับรู้และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน
          
3.การกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบแก้ไขปัญหา กรณีเป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ก็ให้ใช้อำนาจในฐานะผู้กำกับการปฎิบัติงานของ อปท.ในพื้นที่ มอบหมาย อปท.เหล่านั้นไปแก้ไขปัญหาแล้วรายงานผลให้ทราบโดยเร็ว
          
4.การตรวจสอบปัญหาของประชาชนให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ : ขอให้จังหวัดและอำเภอใช้ศักยภาพและกลไกของหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ในจังหวัดและอำเภอ ตรวจติดตามและรายงานสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ รวมทั้งการใช้กลไกกำนันผู้ใหญ่บ้านและคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) เป็นผู้ตรวจสอบติดตามปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ตำบล หมู่บ้านด้วย เพื่อรายงานผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอทราบทุกระยะด้วย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน ให้ใช้ผลการตรวจสอบติดตามปัญหาของประชาชนในพื้นที่เป็นตัวชี้วัดในการประเมินผลงานของกำนัน ผู้ใหญ่บ้านเพื่อพิจารณาบำเหน็จความดี ความชอบประจำปีหรือการดำเนินการทางวินัยในกรณีจำเป็นด้วย
          
นอกจากนี้ ให้พิจารณาขอความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ในตำบลหมู่บ้าน ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เช่น เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) รวมทั้งขอความร่วมมือคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดให้สถานศึกษาในพื้นที่ช่วยแจ้งข้อเดือดร้อนของประชาชน เพื่อให้การดูแลแก้ไขปัญหามีความครอบคลุมทั่วถึง
          
5.การสร้างการรับรู้และความเข้าใจกับประชาชน : ขอให้จังหวัดและอำเภอได้ใช้ช่องทางติดต่อสื่อสารกับประชาชนในพื้นที่อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ทั้งนี้ อาจใช้หอกระจายข่าวของหมู่บ้านหรือของ อปท.แต่ละแห่ง สถานีวิทยุชุมชน สถานีโทรทัศน์ภูมิภาค สถานีเคเบิลของภาคเอกชนหรือการจัดการแสดงมหรสพต่างๆ เป็นช่องทางชี้แจงประชาชน หรืออาจใช้รถประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่กระจายข่าวสารตามหมู่บ้านด้วยก็ได้ และให้พิจารณาใช้ช่องทางสื่อสารทางไลน์ เฟซบุ๊กหรือระบบยูทูบ ให้กว้างขวางเป็นประจำด้วย
          
6.การดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนขอให้จังหวัดและอำเภอพิจารณาใช้บุคลากร เครื่องมือและงบประมาณ ทั้งจากหน่วยงานส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นภายในจังหวัดและงบประมาณในการบริหารจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการหรืองบประมาณตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2556 รวมทั้งการขอความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาของรัฐและเอกชนในพื้นที่จัดกิจกรรมปลุกจิตสำนึกของเด็ก เยาวชน นักเรียน นักศึกษาให้ตระหนักรู้และให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา หรือในกรณีปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นอาจเนื่องมาจากปัญหาของภาคเอกชนเองในท้องถิ่น ก็ให้มีการหารือผ่านที่ประชุมคณะกรรมการ กรอ. จังหวัดหรือคณะกรรมการประสานและขับเคลื่อนนโยบายสานพลังประชารัฐประจำจังหวัดเพื่อให้ภาคเอกชนและหรือภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาเหล่านั้นอย่างรวดเร็วและจริงจัง
         
 7.การขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานในส่วนกลาง : เนื่องจากปัญหาของประชาชนในพื้นที่บางครั้งอาจเกินขีดความสามารถหรือไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่โดยตรงของหน่วยงานในระดับจังหวัดและหรืออำเภอ ก็ให้รีบแจ้งไปยังหน่วยงานในส่วนกลางและ มท.ด้วย เพื่อจะได้ประสานงานหน่วยงานในส่วนกลางดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยตรงหรือสนับสนุนการดำเนินงานของจังหวัดได้ถูกต้อง
        
มท.ขอเรียนว่า แม้ว่าโครงสร้างการบริหารราชการในส่วนภูมิภาคตามกฎหมายบริหารราชการแผ่นดิน ได้กำหนดหลักการไว้ว่า หากงานใดไม่มีผู้รับผิดชอบหรือไม่อยู่ในหน้าที่ของส่วนราชการใดให้เป็นหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอก็ตาม แต่เนื่องจากในปี พ.ศ.2544 เป็นต้นมาได้มีการยุบเลิกและแยกหน่วยงานในระดับอำเภอและจังหวัดที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของประชาชนไปด้วย รวมทั้งการยกเลิกอำนาจหน้าที่ในทางบริหารของผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกไป จึงอาจทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอไม่สามารถทำหน้าที่ในฐานะผู้จัดการพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพครอบคลุมทุกปัญหา 

มท.จึงได้รวบรวมข้อมูลปัญหาอุปสรรคตลอดจนข้อเสนอในการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารงานของจังหวัดและอำเภอเพื่อนำเสนอหน่วยงานในระดับนโยบายพิจารณาแก้ไขต่อไป ในห้วงนี้ จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอได้พยายามใช้ศักยภาพของพื้นที่และตนเองตลอดจนการบูรณาการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ให้เกิดเอกภาพและร่วมกันทำงานแก้ไขปัญหาของจังหวัดและอำเภอไปพลางก่อน หากมีปัญหาและอุปสรรคหรือข้อเสนอแนะประการใดในการปฏิบัติงานในพื้นที่ก็ขอให้รายงาน มท.ทราบด้วย
 
 

บันทึกโดย : วันที่ : 02 ต.ค. 2559 เวลา : 19:06:42

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:30 am