กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม รุกส่งเสริมยุทธศาสตร์เพื่อยกระดับการออกแบบของอุตสาหกรรมไทยใน 4 มิติ ได้แก่ การออกแบบเชิงสร้างสรรค์ การออกแบบพัฒนาวัสดุ การออกแบบด้านการบริการ และการออกแบบเชิงวิศวกรรม เพื่อเป็นการผลักดันและยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยเข้าสู่เวทีโลก พร้อมนำพาประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูง โดยเตรียมบูรณาการร่วมกับหน่วยงานและโครงการที่เกี่ยวข้องทั้งจากภาครัฐ และภาคเอกชนเร่งผลักดันและส่งเสริมให้ SMEs ไทย ได้ใช้โอกาสและประโยชน์เปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคเศรษฐกิจแห่งการสร้างมูลค่า
ทั้งนี้ ยังมุ่งเน้นการพัฒนาการออกแบบเชิงวิศวกรรม เพื่อตอบโจทย์ทิศทางการส่งเสริมอุตสาหกรรม S – Curve และ New S – Curve เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอุปกรณ์ทางการแพทย์ ฯลฯ ที่มีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้น ทั้งยังช่วยให้สามารถเพิ่มรายได้ประชากร และผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศให้มีมูลค่าที่สูงขึ้น
นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การดีไซน์หรือการออกแบบเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นและมีความสำคัญในการประกอบธุรกิจและอุตสาหกรรมอย่างยิ่ง เนื่องจากสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและความแปลกใหม่ในโลกธุรกิจและตลาดการค้าที่กำลังมีการแข่งขันกันอย่างสูง โดยในการแข่งขันกันอย่างเข้มข้นนี้ กสอ.ได้เล็งเห็นว่าผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องตามระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนให้ทันด้วยการออกแบบและนวัตกรรม ซึ่งจะเป็นหัวหอกที่สำคัญในการนำพาเศรษฐกิจของประเทศสู่การสร้างมูลค่าและพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ดังนั้น กสอ.จึงได้กำหนดทิศทางการออกแบบเพื่อให้มีความครอบคลุมสอดคล้องกับกระแสการเปลี่ยนแปลง โดยมุ่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการบูรณาการการออกแบบใน 4 มิติ ได้แก่
1. การออกแบบเชิงสร้างสรรค์ สามารถทำให้มูลค่าทางธุรกิจและการตลาดเพิ่มสูงขึ้น ผู้ประกอบการยุคใหม่จำเป็นที่จะต้องหาจุดแข็งนำมาสร้างให้เกิดความโดดเด่น ทั้งในด้านรูปลักษณ์ ความสวยงาม ประโยชน์ใช้สอย หรือการตอบสนองความรู้สึก พร้อมทั้งมุ่งสร้างความพึงพอใจและตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายในด้านความต้องการพื้นฐานและความต้องการเฉพาะ โดย กสอ.ได้ส่งเสริมผลักดันและพัฒนาในด้านการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โครงการส่งเสริมพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าด้วยบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น
2. การออกแบบพัฒนาวัสดุ เป็นกระบวนการออกแบบวัสดุที่เหมาะสมทางด้านสมรรถนะมาพัฒนา เพื่อให้ได้รูปลักษณ์และลักษณะของสินค้าต้นแบบที่ต้องการ พร้อมทั้งก่อให้เกิดความคุ้มค่าในทางเศรษฐกิจ สามารถผลักดันให้เกิดผลลัพธ์ใหม่ ทั้งในเรื่องของความสามารถในการใช้สอย สามารถสร้างมูลค่าและคุณค่าได้มากกว่าที่ตลาดต้องการ ตัวอย่างการออกแบบประเภทนี้ ได้แก่ การออกแบบเพื่อให้เบาขึ้นผ่านการใช้วัสดุพิเศษ การออกแบบให้กระจกมือถือโค้งมนใช้งานได้เหมือนปกติ ฯลฯ
3. การออกแบบเพื่อการบริการ แม้ว่าการออกแบบผลิตภัณฑ์จะมีส่วนสำคัญมากในการสร้างทางเลือก ให้ผู้บริโภค แต่ปัจจุบันความต้องการที่แท้จริงไม่ได้มีเพียงแค่ประโยชน์ใช้สอยหรือรูปลักษณ์ของสินค้าเท่านั้น ความพึงพอใจจากการให้บริการถือเป็นอีกกลยุทธ์ที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดอนาคตของธุรกิจ โดยการบริการสามารถก่อคุณประโยชน์มากมายต่อผู้บริโภคเมื่อประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมหลาย ๆ ประเภท อาทิ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการโรงแรม อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมการสื่อสารและโทรคมนาคม เป็นต้น ซึ่งโมเดลการออกแบบประเภทนี้สามารถตอบสนองความต้องการอันแท้จริงของผู้ใช้ และสร้างมูลค่าใหม่ให้เกิดขึ้นในเชิงเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล โดยมีข้อมูลหลายงานวิจัยพบว่าผู้บริโภคยินดีจ่ายเงินเพิ่มมากกว่าหลายเท่าเพียงให้ได้บริการที่ดีกว่า
4. การออกแบบเชิงวิศวกรรม เป็นการออกแบบเพื่อให้เกิดการใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ และเป็นกระบวนการที่ต้องประยุกต์ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ และแนวปฏิบัติด้านวิศวกรรมศาสตร์ให้เข้ากับความคิดริเริ่มและสร้างสรรค์ อาทิ การออกแบบเครื่องจักร การออกแบบอุปกรณ์เครื่องมือที่เป็นปัจจัยจากการผลิต
สำหรับการออกแบบเชิงวิศวกรรมถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากสิ่งหนึ่ง เพราะสามารถนำไปใช้ได้ตั้งแต่อุตสาหกรรม SMEs จนถึงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ S – Curve และ New S – Curve อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมประเภทชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอุปกรณ์ทางการแพทย์ ฯลฯ ซึ่งหากประเทศไทยมีความสามารถในการออกแบบกลุ่มดังกล่าวได้ก็จะสามารถทำให้อุตสาหกรรมเป้าหมาย S – Curve และ New S – Curve ดังกล่าว สามารถเติบโตได้อย่างมีศักยภาพ ลดการนำเข้าเครื่องจักรอันเป็นปัจจัยการผลิตหลักของอุตสาหกรรม ซึ่งการออกแบบในมิตินี้ กสอ.ได้ผลักดันผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขัน (MDICP) โครงการพัฒนากิจการด้วยดิจิทัล เป็นต้น รวมถึงได้จัดตั้งศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Thailand Industrial Design Center) เพื่อเป็นศูนย์รวมงานนวัตกรรมด้านการออกแบบเพื่อเป็นการเปลี่ยนโมเดลธุรกิจจากเพิ่มมูลค่าไปสู่การสร้างมูลค่า เพื่อสร้างความเติบโตและเชื่อมโยงสู่ตลาดโลกได้อย่างแท้จริง นายพสุ กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการรับคำปรึกษาแนะนำด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ซอยตรีมิตร ถนนพระรามที่ 4 คลองเตย กรุงเทพฯ โทร. 0 2713 5492-9 หรือ www.thdesincenter.com
ข่าวเด่น