วันนี้ (3 ตุลาคม 2559) พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย ดร.อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน และผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่จาก ทุกหน่วยงานในสังกัดร่วมแสดงสัญลักษณ์การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบในโอกาสครบรอบ 14 ปี วันคล้ายวันสถาปนากระทรวงพลังงาน และก้าวสู่ปีที่ 15 กระทรวงพลังงาน เพื่อย้ำเตือนให้ทุกคนยึดถือการทำงานด้วยความโปร่งใส และเป็นธรรม พร้อมร่วมกันขับเคลื่อนภาคพลังงานของประเทศตามแนวนโยบาย Energy 4.0 สอดรับนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล ภายใต้กรอบแผน 5 เสาหลัก มุ่งสร้างรายได้ให้กับประชาชนและประเทศชาติ ยกระดับพ้นกรอบประเทศรายได้ปานกลาง และสร้างประสิทธิภาพพลังงานอย่างสมดุล ก้าวสู่สังคมสีเขียวด้วยพลังงานสะอาด ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในปี 2560 การขับเคลื่อนด้านพลังงานจะยังอยู่ในกรอบแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว โดยในแผนพัฒนากำลัง การผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP ในด้านการสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้าจะมุ่งเน้นการกระจายเชื้อเพลิงและกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองในระดับที่เหมาะสม โดยจะลดการใช้ก๊าซธรรมชาติลงเหลือ 59.4% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด จากเดิมในปี 2559 ใช้อยู่ที่ 64.5% และเพิ่มการใช้พลังงานทดแทนเป็น 9.6% ซึ่งเดิมในปี 2559 ใช้เพียง 6.4% รวมถึงลดการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินลงเหลือ 16.8% ซึ่งเดิมในปี 2559 ใช้อยู่ที่ 18.6%
แผนอนุรักษ์พลังงาน หรือ EEP จะลดความเข้มการใช้พลังงานลง 8.20 ktoe ต่อพันล้านบาท หรือ คิดเป็น 3.98% โดยจะเร่งดำเนินการในมาตรการกำกับดูแลการอนุรักษ์พลังงานตามกฎหมายสำหรับโรงงานและอาคารควบคุม และมาตรการอุดหนุนผลการประหยัดพลังงานในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ ประกอบด้วย โรงงานอุตสาหกรรม 5,500 แห่ง อาคาร 2,000 แห่ง และอาคารภาครัฐ 850 แห่ง โดยมีเป้าหมายการลดใช้พลังงาน จำนวน 314 ktoe (พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ) พร้อมทั้งการผลักดันและส่งเสริมมาตรฐาน Building Code สำหรับอาคารใหม่ เพื่อผลักดันการบังคับใช้ในอาคารขนาดหญ่ขนาดพื้นที่มากกว่า 10,000 ตารางกิโลเมตร ในปี 2560 ซึ่งจะมีการตรวจประเมินและรับรองแบบอาคารใหม่ จำนวน 150 อาคาร และการศึกษามาตรฐานพลังงานสำหรับบ้านอยู่อาศัย (Residential Energy Code : REC) โดยจะสำรวจข้อมูลบ้านอยู่อาศัยขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ จำนวน 1,500 ตัวอย่าง และจัดทำต้นแบบบ้านประหยัดพลังงาน 12 แบบ
แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก หรือ AEDP จะดำเนินการรวบรวมศักยภาพของพลังงานทดแทนในรายภาคเพื่อให้ได้ฐานข้อมูล ที่เป็นปัจจุบันและสอดคล้องกับความเป็นจริง เร่งรัดให้มีการจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) สำหรับโรงไฟฟ้าที่มีใบอนุญาตแล้ว(PPA) จำนวน 9,327.15 เมกะวัตต์ ในปี 2560 การส่งเสริมให้เอกชนเข้ามาลงทุนในด้านผลิตพลังงานความร้อน โดยพิจารณาแนวทางสนับสนุน (Heat Incentive) ในเป้าหมายจำนวน 7,115.10 ktoe (พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ) ส่งเสริมให้มี การผลิตและการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น อาทิ เอทานอล 3.84 ล้านลิตร/วัน และไบโอดีเซล 3.67 ล้านลิตร/วัน ในปี 2560
แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ หรือ Gas Plan จะเดินหน้าเรื่องบริหารจัดการแหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุ การเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ การส่งเสริมการแข่งขันจัดหาแอลเอ็นจีแบบเสรีและศึกษาแนวการกำกับดูแลด้านแอลเอ็นจี การติดตามแผนโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติและการสร้าง LNG Terminal ให้เหมาะสมและเพียงพอกับความต้องการ รวมถึงการลงพื้นที่สร้างเครือข่าย และทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจและการมีส่วน
แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง หรือ Oil Plan จะดำเนินโครงการขนส่งน้ำมันทางท่อซึ่งจะเริ่มสร้างท่อส่งน้ำมันสายเหนือในปี 2559 และสายอีสานในปี 2561 การลดชนิดน้ำมันในกลุ่มเบนซินให้เหลือ 4 ชนิดในปี 2561 การศึกษาการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ ซึ่งจะสรุปผลการศึกษาเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในช่วงเดือนกันยายน 2560 การผลักดันเรื่องการเปิดเสรีนำเข้าแอลเอ็นจีให้เป็นรูปธรรม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ในปี 2560 กระทรวงพลังงานยัง จะขับเคลื่อนภาคพลังงานของประเทศตามแนวนโยบาย Energy 4.0 ซึ่งมีเป้าหมายคือการสร้างรายได้ให้กับประชาชนและประเทศ เพื่อให้ประเทศชาติในภาพรวมหลุดพ้นจากการเป็นประเทศรายได้ระดับปานกลาง สอดรับกับนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล ซึ่งแบ่งการขับเคลื่อนออกเป็น 2 ระดับ คือ ระดับประเทศ และ ระดับชุมชน/ประชาชน โดยในระดับประเทศ จะมุ่งเน้นการผลักดันให้เกิดนวัตกรรมด้านพลังงานใหม่ๆ เพื่อให้ภาคธุรกิจมีความทันสมัย แข่งขันในตลาดโลกได้ และการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับด้านพลังงาน เพื่อ ต่อยอดธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานของประเทศให้เติบโต และก้าวหน้า ซึ่งสิ่งที่ภาคพลังงานของประเทศไทยจะต้องเตรียมพร้อมในการกำหนดนโยบายและการกำกับดูแลในอนาคต อาทิ การบริหารจัดการพลังงานทดแทนให้มีความเสถียร (Firm Renewable Energy) จากการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) การเตรียมพร้อมเพื่อรองรับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) การพัฒนาในรูปแบบของ “Smart” ต่างๆ ทั้งในส่วนของ Smart Grid ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของ Smart City ซึ่งทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้พลังงานสามารถมีปฏิสัมพันธ์กันได้ผ่านระบบสารสนเทศ การเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าระหว่างประเทศและมีการส่งไฟฟ้าขายข้ามประเทศ ยกตัวอย่างกรณี ของ LTM ที่มีแผนการส่งไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ผ่านไทยไปยังมาเลเซีย การเปิดให้มีการแข่งขัน ในกิจการก๊าซธรรมชาติ ทั้งในส่วนของการใช้ท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และท่ารับ LNG รวมถึงการผลิตไฟฟ้าประเภทผสมผสานระหว่างพลังงานธรรมชาติ (PV Wind Hydro) และพลังงานชีวภาพ (Biomass Biogas MSW)
ส่วนในระดับชุมชน/ประชาชน จะมุ่งเน้นการสร้างรายได้ และลดรายจ่ายให้กับประชาชนและชุมชน ผ่านโครงการประชารัฐ การสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคม การดำเนินโครงการพลังงานชุมชน และการส่งเสริมด้านพลังงานในธุรกิจ SMEs ซึ่งปัจจุบันมีการขับเคลื่อนอยู่แล้วหลายโครงการ อาทิ การส่งเสริมธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในชุมชน เช่น การสนับสนุนให้ชุมชนผลิตและจำหน่ายก๊าซไบโอมีเทนเพื่อทดแทนก๊าซหุงต้มในครัวเรือน โครงการช่วยเหลือเกษตรกร เช่น โครงการสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์สู้ภัยแล้ง 900 ระบบ ทั่วประเทศ เพื่อช่วยบรรเทาการขาดแคลนน้ำในการอุปโภคแก่เกษตรกร เป็นต้น
“นอกเหนือจากการขับเคลื่อนเรื่อง Energy 4.0 แล้ว เป้าหมายด้านพลังงานในอนาคต กระทรวงพลังงานจะผลักดันให้เกิดมิติที่ผู้บริโภคสามารถผลิตพลังงานใช้เองได้และมีความหลากหลายทางเชื้อเพลิง พร้อมทั้งผลักดันให้เกิดการลงทุนการแข่งขันในธุรกิจพลังงานอย่างเสรีและเป็นธรรม รวมถึงสร้างชุมชนเมือง ให้เป็น Smart City Smart Home มุ่งสู่สังคมสีเขียวด้วยพลังงานสะอาด ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกลง 20-25% ในปี 2573 และในปี 2560 นี้ กระทรวงพลังงานยังมุ่งเน้นการบริหารจัดการด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม พร้อมตรวจสอบได้เป็นหัวใจสำคัญ ในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงพลังงานในวันนี้ คณะผู้บริหารกระทรวงพลังงาน รวมถึงข้าราชการทุกคนยังได้ตอกย้ำด้วยการร่วมแสดงสัญญลักษ์การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อยึดถือเป็นข้อปฏิบัติในการทำงานต่อไป ” พลเอกอนันตพร กล่าว
ข่าวเด่น