กรม สบส.ให้อสม.เผยแพร่ความรู้ประชาชน ป้องกันโรคที่มากับน้ำท่วม แนะอย่าใช้น้ำท่วมล้างหน้า
รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ห่วงประชาชนเจ็บป่วยจากโรคที่มากับน้ำท่วมที่พบบ่อย 9 โรค เช่นโรคตาแดง โรคไข้เลือดออก โรคอุจจาระร่วง กำชับอสม.ให้ความรู้การป้องกันโรคในหมู่บ้านต่อเนื่อง ยึดหลักกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ไม่ถ่ายอุจจาระ ไม่ทิ้งขยะลงน้ำ พร้อมแนะประชาชนอย่าใช้น้ำท่วมขังล้างหน้า เสี่ยงติดเชื้อเป็นโรคตาแดงได้ ช่วงฤดูฝนปี 2559 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม –กันยายน ทั่วประเทศป่วยโรคนี้ 48,000 กว่าคน
นายแพทย์ประภาส จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรมสบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กรมสบส.มีความเป็นห่วงสุขภาพประชาชนในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมขณะนี้ ได้กำชับให้อสม.ที่มีในทุกพื้นที่ หมู่บ้านละประมาณ 10 คน เผยแพร่ให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันโรคที่มากับน้ำท่วมซึ่งที่พบได้บ่อยมี 9 โรค ได้แก่โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม โรคไข้เลือดออก โรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ ไข้ไทฟอยด์ โรคตับอักเสบ โรคฉี่หนู และโรคตาแดง โดยให้ประชาชนยึดหลักการปฏิบัติตัว คือนอนในมุ้ง ให้กินร้อนคือรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ ใช้ช้อนกลางตักอาหารเมื่อรับประทานร่วมกันหลายคน ล้างมือฟอกสบู่บ่อยๆ ภายหลังหยับจับสิ่งของ และภายหลังใช้ห้องน้ำ ห้องส้วม รวมทั้งไม่ทิ้งขยะและไม่ถ่ายอุจจาระลงน้ำ เพื่อช่วยลดความสกปรกของน้ำ ป้องกันการเกิดโรคระบาดภายหลังน้ำท่วม ซึ่งขณะนี้พื้นที่น้ำท่วมขังบางแห่งเริ่มมีกลิ่นเน่าเหม็นแล้ว เช่นที่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก
นายแพทย์ประภาส กล่าวว่า ประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม ไม่ควรนำน้ำที่ท่วมขังมาล้างหน้า เนื่องจากในน้ำท่วมขังจะพัดพาสิ่งสกปรกมีเชื้อโรคปะปนจำนวนมากเสี่ยงติดเชื้อเป็นโรคตาแดงได้ง่าย โรคนี้แม้ไม่ทำให้เสียชีวิต แต่เมื่อมีคนในครอบครัวคนใดคนหนึ่งเป็นแล้วจะติดต่อกันง่าย ตลอดช่วงฤดูฝนปี 2559 รวม 5 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – เดือนกันยายน สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานพบผู้ป่วยโรคตาแดงทั่วประเทศ 48,000 กว่าคน พบได้ทุกวัย ส่วนใหญ่จะเป็นวัยแรงงาน
ทั้งนี้ สาเหตุของโรคตาแดงเกิดจากจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย หลังติดเชื้อประมาณ 2-14 วัน จะมีอาการเคืองตา คันตา ตาแดง มีน้ำตาไหล มีขี้ตามาก มักเริ่มเป็นจากตาข้างหนึ่งก่อน หากปฏิบัติตัวไม่ถูกต้อง เช่น ใช้มือสัมผัสหรือขยี้ตาข้างที่เป็นตาแดง และไปสัมผัสกับตาอีกข้างหนึ่งโดยไม่ได้ล้างมือก่อน อาจลามไปยังตาอีกข้างหนึ่งได้ ส่วนใหญ่อาการจะหายไปภายใน 1-3 สัปดาห์ โดยไม่มีอาการแทรกซ้อนใดๆ โรคนี้ติดต่อกันโดยการสัมผัสขี้ตาหรือน้ำตาของผู้ป่วยโดยตรง หรือติดจากการใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้ป่วย
การป้องกันโรคตาแดง ขอให้ประชาชนปฏิบัติดังนี้ 1.หากมีฝุ่นละอองหรือน้ำสกปรกเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที 2.หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ ห้ามใช้มือขยี้ตา 3.รักษาความสะอาดเสื้อผ้า และของใช้ส่วนตัว สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคตาแดง ขอให้ไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อรับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง และให้นอนแยกจากสมาชิกในครอบครัว ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัว เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว แว่นตา และเครื่องนอนร่วมกันผู้อื่น เพื่อป้องกันโรคแพร่ระบาด แนะนำให้ใช้กระดาษนุ่มซับน้ำตาหรือใช้สำลีชุบน้ำสะอาดเช็ดขี้ตา แล้วทิ้งในถังขยะที่มิดชิด ไม่ควรใช้ผ้าเช็ดหน้าซับ เนื่องจากเชื้อโรคจะสะสมอยู่ในผ้าและติดต่อไปยังผู้อื่นได้ และไม่ควรใช้ผ้าปิดตาเพราะจะยิ่งทำให้เกิดการติดเชื้อมากขึ้น หากเป็นผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ขอให้งดใส่จนกว่าตาจะหายอักเสบ
ข่าวเด่น