รัฐบาลไทย-สหราชอาณาจักรหนุนภาคธุรกิจ 2 ประเทศ เปิดเจรจาลดอุปสรรคการค้า ผลักดันมูลค่าลงทุน เสนอนายกฯไฟเขียวปรับกฎระเบียบเอื้อธุรกิจ
วันนี้ (3 ตุลาคม 2559) สมาชิกสภาผู้นำธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักร (Thai-UK Business Leadership Council) ซึ่งประกอบด้วยฝ่ายไทย 13 องค์กร นำโดย นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานคณะกรรมการสมาชิกฝ่ายไทย และ ฝ่ายสหราชอาณาจักร 11 องค์กร นำโดยนายไบรอัน เดวิดสัน (Mr. Brian Davidson)เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย ได้ประชุมร่วมกันเพื่อหารือแนวทางในการขยายความร่วมมือของภาคเอกชนในการเพิ่มการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศ
นายเทวินทร์ เปิดเผยว่า การประชุมดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากการลงนามแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีในการจัดตั้งสภาผู้นำธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2559 ณ กรุงลอนดอน ประเทศสหราชอาณาจักร
สมาชิกทั้งสองฝ่ายจะนำผลสรุปจากการประชุมเสนอต่อรัฐบาลในการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบข้อบังคับเพื่อให้การค้าและการลงทุนเพิ่มขึ้น
นายเทวินทร์ กล่าวว่า สมาชิกฝ่ายไทยได้เสนอประเด็นไปยังผู้แทนรัฐบาลสหราชอาณาจักร ในประเด็น
1. การจัดเก็บภาษี (VAT และ Corporate Tax) โดยมีข้อเสนอแนะให้มีการพิจารณาสิทธิพิเศษทางการค้าและการลงทุน เพื่อให้เกิดแรงจูงใจในการเข้าไปตั้งสำนักงานตัวแทน
2. แรงงาน
- การขอใบอนุญาตทำงานให้กับผู้ที่มีชำนาญเฉพาะทาง อาทิ พ่อครัว แม่ครัว ในการเข้าไปทำงานในสหราชอาณาจักร
- การขอใบอนุญาตให้นักศึกษาไทยที่สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่สหราชอาณาจักรสามารถฝึกงานได้เป็นระยะเวลาหนึ่ง หรือสำหรับนักศึกษาไทยที่กำลังศึกษาในระดับอุดมศึกษาในประเทศไทยสามารถไปฝึกงานระยะสั้นได้
3. ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยอุตสาหกรรมพลังงาน ปิโตรเคมี และวัสดุ เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความสนใจเป็นพิเศษที่จะทำให้เกิดความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมของสหราชอาณาจักร
4. เสนอแนะในการดำเนินธุรกิจสำหรับผู้สูงอายุ โดยฝ่ายไทยมีศักยภาพในด้านการให้บริการและความพร้อมด้านบุคคลากร อีกทั้งอาจเกิดธุรกิจต่อเนื่องในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร ธุรกิจประกันภัย การผลิตวัสดุเหมาะสมกับผู้สูงอายุ เป็นต้น โดยฝ่ายสหราชอาณาจักร จะสามารถร่วมมือกันในด้านการส่งเสริมเทคโนโลยี หรือการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการแพทย์ เวชภัณฑ์ เป็นต้น
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สมาชิกฝ่ายสหราชอาณาจักร ได้ขอให้รัฐบาลไทยพิจารณาในประเด็นดังนี้
1. การกำหนดมาตรฐานด้านการกำหนดพิกัดภาษีให้ชัดเจน เพื่อลดเวลาในการเจรจาข้อโต้แย้ง ทำให้เพิ่มปริมาณการค้าได้
2. การตรวจสอบ การรับรองมาตรฐานให้เป็นระดับสากล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจ
3. การอนุญาตให้ผู้เชี่ยวชาญพิเศษสามารถพำนักในประเทศไทยได้นานขึ้นและได้รับความสะดวกในการต่ออายุวีซ่า
4. การอนุญาตให้ภาคเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐบาล เพื่อให้รัฐบาลสามารถหาทุนได้
ในโอกาสเดียวกันภาคเอกชนได้ใช้โอกาสนี้ในการเปิดการเจรจาธุรกิจระหว่างสมาชิกด้วยกัน อาทิ บริษัท ปตท. กับ บริษัทRolls Royce เป็นต้น
นายมาร์ค กานิเยร์ (Mr. Mark Garnier) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศสหราชอาณาจักร เห็นว่า การประชุมในครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนของสองประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลทั้งสองประเทศ เพื่อมุ่งหวังให้เกิดการค้าและการลงทุนที่เพิ่มขึ้นและส่งผลให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ
ภายหลังจากการประชุม ดร. สุวิทย์ และนายมาร์ค นำคณะสมาชิกสภาผู้นำธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักรเข้าเยี่ยมคารวะพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อรายงานความคืบหน้าในการดำเนินงาน ประเด็นที่เป็นข้อจำกัด รวมถึงข้อเสนอแนะที่ทำให้การค้าและการลงทุนเพิ่มขึ้น
ข่าวเด่น