ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
พาณิชย์ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางแก้ปัญหากรณีฮันจินชิปปิ้ง


 


กระทรวงพาณิชย์ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หาแนวทางแก้ปัญหากรณีฮันจิน เร่งประสานทุกภาคส่วนอำนวย              ความสะดวก-บรรเทาความเดือนร้อน

นางอภิรดี  ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจัดประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อรับฟังปัญหาและหารือแนวทางในการแก้ไขปัญหากรณีการล้มละลายของบริษัทฮันจินชิปปิ้ง โดยที่ประชุมได้สรุปแนวทางการดำเนินการในระยะแรกให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเร่งประสานบริษัทฮันจินและสถานทูตเกาหลี   ขอทราบข้อเท็จจริงโดยเฉพาะจำนวนและประเภทสินค้าของผู้ประกอบการไทยที่ได้รับผลกระทบ อีกทั้งสั่งการให้สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศเร่งรัดเจรจาและให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเรื่องการอนุญาตเข้าเทียบท่า การขนถ่ายสินค้า และจัดหาผู้ประกอบการท้องถิ่นที่รับจัดการสินค้าภายหลังการขนถ่ายจากเรือแล้ว

“กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จะประสานหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง เพื่ออำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการออกเอกสารสำคัญ การตรวจสินค้า การขนถ่ายสินค้า ประสานหน่วยงานภาคการเงิน อาทิ เอ็กซิมแบงค์ เพื่อจัดหาแหล่งเงินทุนบรรเทาความเดือนร้อนให้กับผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ตลอดจนประสานสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ในการให้คำปรึกษาและข้อมูลด้านประกันภัย รวมทั้งเจรจากับบริษัทประกันภัยเพื่อประนีประนอมการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยจะเข้าพบกระทรวงคมนาคมเพื่อหารือสถานการณ์และแนวทางแก้ไขปัญหาอีกทางหนึ่งด้วย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าว

หน่วยงานที่เข้าร่วมประชุมได้สรุปปัญหาสำคัญที่เกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบการค้าระหว่างประเทศของไทย โดยมีประเด็นหลักคือ การขาดข้อเท็จจริงเรื่องตู้คอนเทนเนอร์ของบริษัทฮันจินที่เกี่ยวข้องกับสินค้าไทยทั้งส่งออกและนำเข้า รวมทั้งประเภทของสินค้าที่บรรจุบนเรือ ทำให้ไม่เห็นภาพรวมของปัญหา และขาดข้อมูลที่แม่นยำในการวิเคราะห์เพื่อหาทางแก้ไข ประเด็นที่สองคือ เรือของบริษัทฮันจินยังคงรอการอนุญาตให้เทียบท่าและขนถ่ายสินค้า ทำให้ผู้ส่งออกได้รับความเสียหายจากสินค้าที่ไม่สามารถส่งมอบได้ ประเด็นที่สาม การผลิตสินค้าเพื่อส่งออกในระยะสั้นได้รับผลกระทบจากปัญหาสินค้านำเข้าขาดช่วง และอาจลุกลามต่อถึง Supply Chain ในระยะกลางและยาว

ประเด็นถัดมาคือ ภาคเอกชนยังขาดความรู้และคำปรึกษาเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะเรื่อง Risk Transfer และความคุ้มครองของประกันภัย ประเด็นที่ห้า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องนำเข้าสินค้าเพื่อใช้ในการผลิตขาดแหล่งทุนสำหรับสั่งสินค้าเข้ามาใหม่ และประเด็นสุดท้าย การแก้ไขปัญหาจำเป็นต้องมีการบูรณาการหลายหน่วยงานเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ได้รับผลกระทบ

ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2559 ณ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาพันธ์โลจิสติกส์ไทย สมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ สมาคมตัวแทนขนส่งสินค้าทางอากาศไทย สมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย สมาคมตัวแทนออกของรับอนุญาตไทย สมาคมขนส่งสินค้าเพื่อการนำเข้าและส่งออก สมาคมชิปปิ้งแห่งประเทศไทย สมาคมเจ้าของเรือไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย การท่าเรือแห่งประเทศไทย กรมศุลกากร กรมเจ้าท่า และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ ได้แก่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมการค้าภายใน กรมการค้าต่างประเทศ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า  และสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 03 ต.ค. 2559 เวลา : 15:52:43

24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 5:06 pm