ไทยร่วมเวทีมั่นคงอาหารอาเปคชูการพัฒนาความร่วมมือประชารัฐให้ความสำคัญเกษตรกรรายย่อย
ไทยประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ครั้งที่ 4 ภายใต้กรอบเอเปค ณ เมืองเพียวร่า สาธารณรัฐเปรู รุกร่วมมือด้านความมั่นคงอาหารระหว่างกันภายในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก พร้อมรับรองปฏิญญาเพียวร่า ด้านไทย ชูแนวทางพัฒนาที่มีความร่วมมือโดยประชารัฐ เน้นพัฒนาเกษตรกรรายย่อย และการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
นางจันทร์ธิดา มีเดช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดภายเผยหลังเข้าร่วมประชุมในสัปดาห์ความมั่นคงอาหารและการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ครั้งที่ 4 ภายใต้กรอบเอเปค ในหัวข้อการส่งเสริมตลาดอาหารของภูมิภาค (Enhancing the Regional Food Market) ระหว่างวันที่ 20–27 กันยายน 2559 ณ เมืองเพียวร่า สาธารณรัฐเปรู โดยมีรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย
การประชุมระดับรัฐมนตรีของสมาชิกเอเปค มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงอาหารระหว่างกันภายในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยจะมีการรับรองปฏิญญาเพียวร่า ว่าด้วยความมั่นคงอาหารเอเปค ซึ่งสาระสำคัญของปฏิญญาฯ ประกอบด้วย 7 หัวข้อหลัก คือ 1) ความท้าทายและโอกาสสำหรับความมั่นคงอาหารในภูมิภาค 2) ตลาดอาหารในภูมิภาคและการค้า 3) ความยั่งยืนสำหรับระบบอาหารที่มีความยืดหยุ่นปรับตัวได้ 4) นวัตกรรมและเทคโนโลยี 5) การพัฒนาชนบทและเขตเมือง 6) โครงสร้างพื้นฐานการลงทุนและการบริการเพื่อความมั่นคงอาหาร และ 7) การเข้าสู่ระบบอาหารในปี ค.ศ.2020
สำหรับร่างปฏิญญาฯ ดังกล่าว เป็นการแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการดำเนินงานเกี่ยวกับความร่วมมือด้านความมั่นคงอาหารระหว่างสมาชิกเอเปค โดยไม่มีข้อผูกพันทางกฎหมาย (non-legal binding) ซึ่งสมาชิกสามารถพิจารณาให้ความร่วมมือตามความสมัครใจ
ในโอกาสเดียวกันนี้ ไทยได้กล่าวถ้อยแถลงในหัวข้อ การพัฒนาชนบทและเขตเมือง (Rural-Urban Development) เพื่อแสดงแนวทางของประเทศไทยว่า การเพิ่มขึ้นของพื้นที่ในชุมชนเมือง มีผลต่อความมั่นคงทางอาหาร จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้การพัฒนาที่มีความร่วมมือ และครอบคลุมทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย ซึ่งไทยได้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการวางแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นแนวทางที่มีความยั่งยืน คำนึงถึงชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติ และเป็นการจัดการความเสี่ยงให้กับเกษตรกร
นอกจากนี้ ประเทศไทยได้ดำเนินโครงการร่วมกับภาคเอกชน และชุมชน ผ่านโครงการประชารัฐในการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อยกระดับการผลิตและการค้าสินค้าเกษตรของไทยในระยะยาว ทั้งนี้ การรับประกันความมั่นคงอาหารในระยะยาว จะต้องทำให้เกิดความยั่งยืนทั้งด้านการผลิตและการบริโภค โดยใช้กลไกการค้าแบบเปิด ยุติธรรม และอยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ตลอดจนการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี การแลกเปลี่ยนความรู้ และความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน ตลอดจนการมีส่วนร่วมของเกษตรกรรายย่อยเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาชนบทและเขตเมืองของเอเปคต่อไป รองเลขาธิการ กล่าวทิ้งท้าย
ข่าวเด่น