วันนี้ (4 ตุลาคม 2559) นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้มีฝนตกต่อเนื่อง และตกหนักในบางแห่ง ส่งผลให้บางพื้นที่เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และยังทำให้การเดินทางยากลำบาก ดังนั้นผู้ที่ขับขี่ยานพาหนะบนท้องถนนต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากฝนที่ตกลงมาอาจทำให้ถนนลื่นได้ กรมควบคุมโรคจึงขอแนะนำการป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษในช่วงฝนตกน้ำท่วม เช่น โรคอุจจาระร่วง โรคไข้เลือดออก โรคฉี่หนู และภัยจากอุบัติเหตุทางถนน เป็นต้น โดยข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่ต้นปี 2559 โรคอุจจาระร่วง พบผู้ป่วย 885,942 ราย เสียชีวิต 3 ราย โรคไข้เลือดออก พบผู้ป่วย 44,396 ราย เสียชีวิต 33 ราย และโรคฉี่หนู พบผู้ป่วย 1,355 ราย เสียชีวิต 21 ราย
นายแพทย์เจษฎา กล่าวต่อไปว่า ในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง การใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนจะลำบากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการขับถ่ายอุจจาระที่ไม่ถูกสุขลักษณะอาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคอุจจาระร่วงได้ โดยผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงจะมีอาการถ่ายอุจจาระเหลว 3 ครั้ง/วัน หรือมากกว่า หรือถ่ายมีมูกหรือปนเลือดอย่างน้อย 1 ครั้ง อาเจียนบ่อย กินอาหารไม่ได้ กระหายน้ำกว่าปกติ มีไข้สูง การป้องกันโรคให้ยึดหลัก “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” คือ รับประทานอาหารเฉพาะที่ปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อนและสะอาด หลีกเลี่ยงการปรุงโดยวิธีลวกหรือพล่าสุกๆ ดิบๆ สำหรับอาหารที่รับประทานไม่หมดต้องเก็บในตู้เย็นและนำมาอุ่นก่อนรับประทานใหม่ แต่หากมีรสหรือกลิ่นผิดปกติไม่ควรรับประทานเด็ดขาด และหมั่นล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุงอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร หลังขับถ่าย และหลังสัมผัสสิ่งสกปรก ที่สำคัญควรปฏิบัติตนให้ถูกหลักสุขอนามัย
สำหรับโรคไข้เลือดออก ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำโรค มักมีการระบาดสูงสุดในช่วงหน้าฝน และเพื่อให้ค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายและจำนวนผู้ป่วยลดลง กรมควบคุมโรค จึงขอความร่วมมือประชาชนในการควบคุมยุงลายในบ้านของท่านเองอย่างสม่ำเสมอ โดยดำเนินตามมาตรการ 3 เก็บ “เก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บน้ำ” เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ ไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา รวมถึงการป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัด โดยการสวมเสื้อผ้าให้มิดชิดป้องกันยุงกัด นอนในมุ้ง ทายากันยุง หรือใช้สมุนไพรไล่ยุง และหมั่นกำจัดและควบคุมยุงตัวแก่ เช่น การพ่นสารเคมีกำจัดยุงลาย เป็นต้น
นอกจากนี้ ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมอาจป่วยเป็นโรคฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรสิส ซึ่งภายหลังน้ำลดแล้วจะทำให้สภาพพื้นดินในบริเวณที่พักอาศัยหรือทางเดินชื้นแฉะ เป็นแอ่งน้ำขัง โดยเชื้ออาจอยู่ตามบริเวณดังกล่าวได้ เชื้อโรคชนิดนี้จะสามารถเข้าทางบาดแผล หรือตามรอยถลอก รวมถึงผิวหนังที่แช่น้ำเป็นเวลานานได้ สำหรับการป้องกันโรคฉี่หนู ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำท่วมขัง หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรสวมรองเท้า เช่น รองเท้าบู๊ทยาง หากมีบาดแผลที่เท้าหรือบริเวณขา ให้ใช้ถุงพลาสติกหรือวัสดุที่กันน้ำได้ห่อหุ้มขาและเท้าเพื่อป้องกันน้ำเปียกแผล รวมถึงดูแลบ้านให้สะอาด กำจัดขยะและเศษอาหารให้ถูกวิธี โดยใส่ในถุงพลาสติกหรือในถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิดเพื่อไม่ให้เป็นที่อาศัยหรือเป็นแหล่งอาหารของหนู
“ช่วงนี้มีโอกาสที่ฝนจะตกระหว่างการเดินทางได้ ซึ่งการขับขี่ฝ่าฝนตกอาจมีลมแรงและทำให้ทัศนวิสัยในการมองเห็นน้อยลง จึงต้องมีการเตรียมพร้อมและระมัดระวังการขับขี่เป็นพิเศษ โดยคำแนะนำในการขับขี่ช่วงฝนตก คือ 1.เปิดไฟหน้ารถเสมอ โดยเปิดไฟต่ำ เพื่อช่วยให้มองเห็นสิ่งต่างๆบนถนนได้ชัดเจนขึ้น และให้รถคันอื่นมองเห็นรถได้จากระยะไกล 2.เปิดใบปัดน้ำฝน โดยปรับระดับความเร็วของใบปัดน้ำฝนให้สัมพันธ์กับความแรงและปริมาณฝนตก 3.ลดความเร็ว เพื่อเพิ่มความระมัดระวังให้มากเป็นพิเศษ 4.ให้ทิ้งระยะห่างจากคันหน้า เพราะสภาพถนนที่เปียกลื่น ต้องใช้ระยะทางในการหยุดรถเพิ่มขึ้น 5.หลีกเลี่ยงการแซง แต่หากจำเป็นต้องประเมินสถานการณ์ ระยะทางข้างหน้า ความเร็วและระยะห่างของรถที่กำลังวิ่งตามกันในช่องจราจรซ้ายขวา 6.รถลื่นไถลหรือเหินน้ำ ห้ามเหยียบเบรกจนล้อหยุดหมุนในทันที เพราะอาจทำให้รถพลิกคว่ำได้ ให้แก้ไขโดยลดความเร็ว ใช้เกียร์ต่ำ จนกว่ารถจะทรงตัวได้ แล้วจึงค่อยเหยียบเบรกเพื่อหยุดรถ และ 7.เมื่อต้องขับรถผ่านน้ำท่วมขัง ให้หยุดประเมินสถานการณ์ หากระดับน้ำลึกสูงกว่าขอบประตูรถ ไม่ควรขับฝ่าไป ควรเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่น ทั้งนี้การเดินทางช่วงที่มีฝนตกมีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุได้สูง และมีโอกาสที่จะเป็นอุบัติเหตุใหญ่ที่มีคนบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ดังนั้นหากพบเห็นผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ขอให้โทรแจ้งขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ โทร 1669 ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ความชำนาญ จะเกิดความปลอดภัยกับผู้บาดเจ็บมากขึ้น หากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422” นายแพทย์เจษฎา กล่าวปิดท้าย
ข่าวเด่น