ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กรม สบส.ห่วงผู้ประสบภัยน้ำท่วมปอดบวมไม่ควรนำที่นอนเปียกน้ำมาใช้เหตุความชื้นสูง


 


อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ห่วงผู้ประสบภัย ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม โดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ไม่ควรนำที่นอนเปียกน้ำมาใช้นอน เพราะมีความชื้นสูง เสี่ยงติดเชื้อง่าย แนะหากผู้ประสบภัยป่วยมีไข้สูงติดต่อกันเกิน 2 วัน กรณีเป็นเด็กเล็ก มีอาการหอบ ไอมากขึ้น หายใจแรงจนชายโครงบุ๋ม หรือหายใจมีเสียงดัง ขอให้รีบพาไปพบแพทย์ หากไม่สามารถเดินทางออกจากบ้านได้ ขอให้โทรแจ้งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน

 
นายแพทย์วิศิษฎ์  ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำท่วมขณะนี้  มีความเป็นห่วงสุขภาพประชาชน  ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 4-10 ตุลาคม 2559 จะมีฝนตกต่อเนื่องทั่วประเทศ  และมีฝนตกหนักมากบางแห่ง       โดยจากสภาพที่มีน้ำท่วมขังในหลายจังหวัดเป็นเวลาติดต่อกันหลายวัน อาจเพิ่มความเสี่ยงให้ผู้ประสบภัย โดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว อาจเจ็บป่วยง่ายขึ้น เนื่องจากอากาศมีความชื้นสูง ขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง หมั่นออกกำลังกาย และหมั่นล้างมือฟอกสบู่บ่อยๆ โดยเฉพาะหลังจากใช้ห้องน้ำห้องส้วมหรือภายหลังหยิบจับสิ่งของต่างๆ และล้างมือก่อนรับประทานอาหาร และรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ 

“เรื่องใกล้ตัวที่ประชาชนต้องระมัดระวังก็คือเรื่องที่นอน  บางคนอาจขนย้ายที่นอนไม่ทัน หากที่นอนเปียกน้ำแล้ว ขอแนะนำว่าไม่ควรนำมาใช้อีก  เนื่องจากน้ำจะชุ่มอยู่ในวัสดุที่ใช้ทำที่นอน และจะมีความชื้นสูง อาจทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจได้ง่าย โดยเฉพาะไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ และโรคปอดบวม   แนะนำให้ใช้วัสดุอื่นปูนอน แทน เช่น เสื่อ หรือผ้าหนาๆ ก็ได้ เพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายอย่างเพียงพอ” นายแพทย์วิศิษฎ์ กล่าว

นายแพทย์วิศิษฎ์ กล่าวต่อว่า สำหรับโรคไข้หวัดใหญ่ อาการจะเริ่มด้วยการมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ไอ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ หากเริ่มมีอาการ ควรนอนพักผ่อนให้มาก ๆ ดื่มน้ำบ่อย ๆ ถ้าตัวร้อนมากควรใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดตัว หรือกินยาลดไข้ อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นภายใน 2-7 วัน แต่หากมีอาการไอมากขึ้นหรือมีไข้สูงติดต่อกันเกิน 2 วัน โดยเฉพาะในรายที่เป็นเด็กเล็ก หากมีอาการเปลี่ยนแปลงหลังมีไข้ คือหายใจเร็วขึ้น มีอาการหอบ หายใจแรงจนชายโครงบุ๋ม หรือหายใจมีเสียงดัง อาจเกิดโรคแทรกที่สำคัญคือ โรคปอดบวม ซึ่งมีความรุนแรงต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ต้องรีบพาไปพบแพทย์ หากไม่สามารถเดินทางออกจากบ้านได้ หรือเดินทางไม่สะดวก ขอให้โทรแจ้งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน   เพื่อประสานแจ้งสถานบริการสาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้าน   เพื่อให้การดูแลอย่างถูกต้อง                                  

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 05 ต.ค. 2559 เวลา : 10:04:03

17-06-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ June 17, 2024, 7:49 pm