เมื่อ 5 ต.ค. นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ประจำสำนักงานประเทศไทย แถลงว่า ธนาคารโลกได้ปรับคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวเป็น 3.1 % เมื่อเทียบกับประมาณการครั้งล่าสุดเมื่อมิ.ย. ที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 2.5 % หลังจากครึ่งแรกปีนี้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้สูงเกินคาด โดยไตรมาสแรกปีนี้ขยายตัว 3.2 % และไตรมาส 2 ขยายตัว 3.5 % แต่การฟื้นตัวยังมีลักษณะของการเติบโตไม่ทั่วถึงและไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ส่วนจีดีพีปีหน้า(ปี 2560) น่าจะโตได้ต่อเนื่องที่ระดับ 3.1% อย่างไรก็ตาม การเติบโตของเศรษฐกิจไทยยังต่ำกว่าศักยภาพที่ควรขยายตัว 3.5 % ซึ่งหากผลักดันการลงทุนภาครัฐได้ดี โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ถึง4-5 %
ปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นผลจากมาตรการการคลัง การใช้จ่ายภาครัฐ การท่องเที่ยวของไทยขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีนที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดีในครึ่งปีหลังจำนวนนักท่องเที่ยวอาจจะลดลงบ้าง นอกจากนี้ การบริโภคภาคเอกชนมีส่วนช่วยในการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่อไป
ขณะที่ภาคการส่งออกยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ธนาคารโลกประเมินว่าปีนี้การส่งออกของไทยเมื่อรวมกับภาคบริการแล้วจะเติบโตได้ 0.4% ซึ่งหากหักภาคบริการในส่วนของการท่องเที่ยวไปแล้ว การส่งออกในปีนี้ก็มีโอกาสจะต่ำกว่า 0% โดยธนาคารโลกจะประกาศตัวเลขที่ชัดเจนอีกครั้งในการแถลงช่วงเดือน พ.ย. ขณะที่การนำเข้าปีนี้ คาดว่าจะหดตัว -0.5%
สำหรับความท้าทายต่อเศรษฐกิจไทย ประเด็นเศรษฐกิจจีนที่ขาดเสถียรภาพด้านการเงินที่อาจนำมาซึ่งบรรษัทที่มีหนี้สินสูงอาจจะต้องผิดนัดชำระหนี้ และส่งผลกระทบกับไทยในเรื่องการค้าและช่องทางการไหลเวียนของเงินทุน เนื่องจากไทยส่งออกสินค้าไปจีนคิดเป็นสัดส่วนถึง 12% จากยอดการส่งออกทั้งหมด และเงินทุนจากจีนคิดเป็น 8% ของเงินทุนไหลเข้าจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ
ความเสี่ยงอีกประการ คือ เสถียรภาพการเมือง หากประชาชนไม่พอใจกับการเดินหน้าปฏิรูปการเมือง หรือเลื่อนการปฏิรูปออกไป ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวความไม่แน่นอนทางการเมืองจะทำให้การใช้จ่ายภาครัฐถูกเลื่อนออกไปและส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน อย่างไรก็ดี ผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญและการที่รัฐบาลได้ยืนยันอย่างหนักแน่นที่จะจัดการเลือกตั้งในปี 2560 ได้ช่วยลดความเสี่ยงในเรื่องนี้ลงไปได้
ข่าวเด่น