นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ย.2559 อยู่ที่ระดับ 74.2 เพิ่มขึ้นจาก 73.2 ในเดือนส.ค.2559 ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันอยู่ที่ 53.2 เพิ่มขึ้นจาก 52.3 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต อยู่ที่ 82.7 เพิ่มขึ้นจาก 81.6 ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 63.4 เพิ่มขึ้นจาก 62.2 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางาน อยู่ที่ 68.6 เพิ่มขึ้นจาก 67.6 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 90.7 เพิ่มขึ้นจาก 89.7
สาเหตุที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวเพิ่มขึ้น มาจากมูลค่าการส่งออกของไทยในเดือนส.ค.2559 เพิ่มขึ้น 6.54% เป็นบวกครั้งแรกในรอบ 5 เดือน คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% และได้ปรับเพิ่มการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยปี 2559 เป็น 3.2% จากเดิม 3.1% ,คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่ออายุการใช้ภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ในอัตรา 7% ออกไปอีก 1 ปี ระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศลดลง รัฐบาลเร่งใช้จ่ายเพื่อการลงทุน สถานการณ์ภัยแล้งคลี่คลาย ราคาสินค้าเกษตรหลายตัวปรับตัวสูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อภาคเกษตรดีขึ้น
แม้ปัจจัยหลายตัวจะดีขึ้น ทำให้คนเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวดีขึ้น แต่ประชาชนก็ยังกังวลเกี่ยวกับปัญหาน้ำท่วม ที่จะกระทบต่อการดำเนินชีวิต การท่องเที่ยว และผลผลิตทางการเกษตร รวมถึงราคาสินค้าเกษตร ที่แม้จะปรับตัวดีขึ้น แต่ก็ยังทรงตัวในระดับต่ำ และยังมีความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ชัดเจน ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในอนาคต
ทั้งนี้ กระแสความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมนั้น ภาพที่ออกมายังไม่ได้รุนแรงนัก เพราะจากข้อมูลที่ออกมาพบว่ามีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเพียง 10 จังหวัด ดังนั้นเหตุการณ์น้ำท่วมในขณะนี้จึงยังไม่เสียหายรุนแรงและไม่ได้อยู่ในพื้นที่เศรษฐกิจ แต่ยังคงต้องติดตามผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในเดือนต.ค.นี้ ว่าจะรุนแรงขึ้นหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ารัฐบาลจะสามารถบริหารจัดการได้ คาดว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์น้ำในขณะนี้ไม่น่าจะเท่าปี 2554 โดยความเสียหายน่าจะอยู่ในหลักไม่เกินพันล้านบาท ซึ่งไม่น่าจะมีผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) เพราะกระทบต่อจีดีพีไม่เกิน 0.05%
ส่วนการประชุมสอดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย (เอซีดี) ที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัด และจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 8-10 ต.ค.นี้ จะมีผู้นำ 38 ประเทศเข้าร่วมประชุม ถือเป็นโอกาสดีที่จะทำให้นานาประเทศรู้จักประเทศไทยมากขึ้น โดยไทยจะใช้เวทีดังกล่าวประชาสัมพันธ์นโยบายไทยแลนด์ 4.0 และจะมีการเลือกตั้งในปี 2560 รวมถึงภาพลักษณ์การท่องเที่ยว ผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตถึงปีหน้า ประกอบกับมีปัจจัยหนุนที่รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจตะวันออก เชื่อว่าปัจจัยเหล่านี้จะดึงเม็ดเงินมาลงทุนในไทยมากขึ้น
ข่าวเด่น