ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
แจงข้อมติของสภายุโรปเกี่ยวกับไทย-กต.ยืนยันไทยมุ่งมั่นคุ้มครองสิทธิมนุษยชน


 


กระทรวงการต่างประเทศ เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับความเห็นของมติของสภายุโรปเกี่ยวกับประเทศไทย ระบุว่า เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2559 สภายุโรป (European Parliament) ได้ออกข้อมติเกี่ยวกับประเทศไทย ซึ่งข้อมติดังกล่าวไม่มีผลผูกพันต่อการดำเนินนโยบายของสหภาพยุโรปต่อไทย  และเป็นส่วนหนึ่งของวาระการประชุมสมัยสามัญของสภายุโรปซึ่งกล่าวถึงสถานการณ์ในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย โดยข้อมติในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศไทยนั้น มีสาระ เกี่ยวกับคดีของนาย Andy Hall รวมถึงการคุ้มครองนักพิทักษ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

รัฐบาลไทยยินดีที่ข้อมติรับทราบถึงพัฒนาการเชิงบวกเกี่ยวกับการดำเนินการของไทยในการคุ้มครองสิทธิของแรงงานต่างด้าว อันประกอบด้วย (1) การตรวจแรงงาน (2) การบัญญัติกฎหมายใหม่เพื่อจัดระเบียบบริษัทนายหน้าจัดหางานและขจัดขบวนการนายหน้าผิดกฎหมาย (3) การดำเนินมาตรการเพื่อป้องกันแรงงานขัดหนี้และปัญหาค้ามนุษย์ (4) การใช้มาตรการลงโทษการละเมิดสิทธิแรงงาน และ (5) การให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) ฉบับที่ 187 ว่าด้วยกรอบเชิงส่งเสริมการดำเนินงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ค.ศ. 2006 และอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล ค.ศ. 2006

ในการนี้ ประเทศไทยยินดีและพร้อมที่จะร่วมมือกับสหภาพยุโรปและ ILO ต่อไป ในการส่งเสริมประสิทธิภาพในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวและการต่อต้านรูปแบบการทำงานที่ไม่เป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลของไทย

สำหรับกรณีของนาย Andy Hall นั้น ประเทศไทยขอเน้นย้ำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการฟ้องร้องนาย Andy Hall ทั้งในคดีอาญาและคดีแพ่งว่า คดีทั้งหมดเป็นการฟ้องร้องโดยเอกชนที่เป็นผู้เสียหาย ซึ่งรัฐบาลไม่ใช่คู่กรณีและไม่สามารถมีอิทธิพลเหนือกระบวนการยุติธรรมที่ดำรงความเป็นอิสระ เป็นกลาง และแยกจากฝ่ายบริหารอย่างชัดเจนได้ กระบวนการยุติธรรมของไทยมีความบริสุทธิ์ยุติธรรม เป็นกลาง โปร่งใส ไม่เลือกประติบัติ และสอดคล้องตามมาตรฐานสากล ทั้งนี้ นาย Andy Hall มีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมและมีสิทธิในการยื่นอุทธรณ์

ประเทศไทยมีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และยึดมั่นการดำเนินการให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งนักพิทักษ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยได้รับความคุ้มครองภายใต้กฎหมายไทยเช่นเดียวกับประชาชนในประเทศทุกคนโดยไม่มีการเลือกปฎิบัติ ทั้งนี้ ประเทศไทยตระหนักถึงหน้าที่และให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นใจเพื่อให้นักพิทักษ์สิทธิมนุษยชนสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 07 ต.ค. 2559 เวลา : 06:37:03

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:46 am