การดำเนินนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อวางรากฐานให้ประเทศไทย มีการเติบโตอย่างมั่นคั่ง มั่นคง ยั่งยืน ได้รับการสนับสนุนจากผู้นำภาคเอกชนด้านค้าปลีกว่าเป็นการดำเนินโยบายที่ถูกต้อง
โดยในการเสวนาหัวข้อ "พันธมิตรระดับโลกในยุคโลกานิยม" ในงาน The Nikkei Asia 300 Global Business Forum เนื่องในโอกาสครบรอบการก่อตั้ง 140 ปี นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงประเทศไทยภายใต้นโยบายThailand 4.0 โดยมุ่งเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมไปสู่เทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นนโยบายที่ดี
และยังเป็นโอกาสของไทยและอาเซียน โดยเฉพาะไทยจะได้ประโยชน์ เพราะเป็นประเทศศูนย์กลางของอาเซียน ที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนและอินเดีย แต่ภาครัฐจะต้องสร้างแรงจูงใจเพื่อดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก โดยจะต้องปรับปรุงกฎหมาย และสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อรองรับการลงทุนในอนาคต เช่น อุตสาหกรรมไบโอเทคโนโลยีหุ่นยนต์ และยานยนต์สมัยใหม่ ซึ่งหากทำได้จะส่งเสริมให้ไทยเป็นเป้าหมายของนักลงทุนในอาเซียน
โดยในการรองรับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ปรับแนวทางการผลิตสู่การสร้างโรงงานไร้แรงงานมนุษย์ในสหภาพยุโรป โดยใช้หุ่นยนต์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาควบคุมการผลิต รวมถึงการค้นคว้าวิจัยไบโอเทคโนโลยี มาผลิตสินค้าเกษตรให้มีประสิทธิภาพ และคุณภาพ ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
นอกจากนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้จับมือเป็นพันธมิตร กับบริษัท อิโตชู คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นบริษัทการค้ายักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น เพื่อผลิตอาหารสำหรับผู้สูงอายุ และศึกษารูปแบบการสร้างศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ เพราะต้องยอมรับว่าทิศทางสังคมของโลกและของไทย จะมีผู้สูงอายุมากขึ้น
สำหรับแนวทางการทำธุรกิจ นายธนินท์ ยืนยันว่า การลงทุนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ในประเทศต่างๆ จะยึดหลัก 3 ประโยชน์ คือ เกิดประโยชน์กับประเทศที่ลงทุน เกิดประโยชน์กับประเทศที่ไปลงทุน และเกิดประโยชน์กับเครือเจริญโภคภัณฑ์ และขณะนี้เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้สร้างศูนย์ฝึกอบรมผู้นำ โดยคัดผู้บริหารจากกลุ่มงานต่างๆ มาอบรมจากพนักงานทั้งหมด 300,000 คน เพื่อสร้างคนให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง
ส่วนทิศทางเศรษฐกิจโลกในอนาคต คุณธนินท์มองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯจะฟื้นตัวได้เร็วที่สุด เนื่องจากสหรัฐฯมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า มีกฎหมายที่คล่องตัวได้เปรียบประเทศอื่นๆ ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นจะฟื้นตัวเป็นประเทศที่สอง และมีโอกาสแซงหน้าสหรัฐฯ และขยับขึ้นเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลกได้ หากนักธุรกิจญี่ปุ่นกล้ายอมรับความเสี่ยงทางธุรกิจที่เกิดขึ้น ส่วนจีนจะฟื้นตัวเป็นประเทศที่สาม เพราะสถานการณ์การเมืองนิ่งมีความต่อเนื่องของนโยบายและเศรษฐกิจมีศักยภาพในการเติบโตอีกมาก
ข่าวเด่น