ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
เตือนหนุ่มสาวนิยมผิวหน้า'ขาวใสวิ้ง'ด้วยไอออนโตฯ โฟโนฯ อาจหน้าพัง หากผู้ทำไม่ใช่หมอ


 


กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ย้ำเตือนหนุ่มสาวไทยที่นิยมหน้าขาวใสวิ้งทันใจ ด้วยเครื่องไอออนโตโฟเรซีส และโฟโนโฟเรซิส เรียกยอดไลค์ทางโซเชียลมีเดีย เสี่ยงผิวหน้าเกรียมก่อนสวยหากทำโดยบุคคลที่มิใช่แพทย์ และมีข้อห้ามใช้กับคนบางกลุ่ม  เน้นย้ำต้องทำโดยแพทย์ในสถานพยาบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น      และห้ามใช้เครื่องมือนี้ในสถานที่ๆไม่ใช่สถานพยาบาลเด็ดขาด หากพบให้แจ้งที่สายด่วน คุ้มครองผู้บริโภค กรม สบส. 02 193 7999 ทันที
นายแพทย์วิศิษฎ์  ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรมสบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้กระแสนิยมการดูแลบำรุงผิวหน้าให้ขาวใส ขยายตัวเพิ่มขึ้น จากสถิติของสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งเสริมสวยนานาชาติ (ISAPS) ปี 2558 ทั่วโลกมีผู้เข้ารับการเสริมความงามโดยไม่ใช้วิธีผ่าตัดกว่า 12 ล้านคน เพิ่มจากปี 2557 ประมาณร้อยละ 20 ในจำนวนนี้เป็นการรักษาเฉพาะผิวหน้า (Facial Rejuvenation) กว่า 2.2 ล้านคน สูงกว่าปี 2557 ถึงร้อยละ 52 แสดงให้เห็นว่าประชาชนในยุคดิจิทอลให้ความสนใจการเพิ่มเสน่ห์บนใบหน้า ตามกระแสนิยมการโชว์สวย-หล่อทางสื่อโซเชียลมีเดีย ทั้งเฟซบุ๊ค ไลน์ อินสตราแกรม เพื่อเรียกยอดไลค์  จึงอาศัยบริการจากคลินิกที่ให้บริการด้านเสริมความงามกันมากขึ้น ซึ่งบริการที่พบได้บ่อยในคลินิกประเภทนี้ คือ การใช้เครื่องไอออนโตโฟเรซีส (Iontophoresis) และโฟโนโฟเรซิส (Phonophoresis) ซึ่งเชื่อว่าเป็นวิธีการที่ทำให้ผิวหน้าใส ไร้ริ้วรอย ฝ้า รอยด่างดำ แผลเป็นจากสิวได้ 
นายแพทย์วิศิษฎ์ กล่าวว่า การทำไอออนโตโฟเรซีส และโฟโนโฟเรซิสทั้ง 2 วิธี จะต้องทำโดยแพทย์ซึ่งมีความรู้ในการใช้เครื่องมือ และทำในสถานพยาบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย ห้ามร้านเสริมสวย หรือสถานประกอบการเพื่อสุขภาพทั้งสปา-นวด นำไปให้บริการโดยเด็ดขาด เพราะการใช้เครื่องมือชนิดนี้โดยบุคคลที่มิใช่แพทย์อาจเกิดอันตราย ทั้งผิวหน้าไหม้เกรียมดำจนเสียโฉม บาดเจ็บจากไฟฟ้าช็อต หรือผิวหน้าเสียหายจากการใช้ยาหรือวิตามินที่ไม่เหมาะสมก็ได้ ทำให้มีรอยแผลบนใบหน้าจนขาดความมั่นใจแทนจะได้ผิวขาวใสอย่างที่หวัง ซึ่งกรม สบส.ได้ควบคุมมาตรฐานการให้บริการ โดยกำหนดให้เครื่องมือแพทย์ทุกชนิดในคลินิกที่ให้บริการด้านเสริมความงามจะต้องขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  ผู้ให้บริการต้องเป็นแพทย์จริงที่มีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม และต้องทำในสถานพยาบาลเท่านั้น
ด้าน ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กล่าวว่า  วิธีการทำไอออนโตโฟเรซีส และโฟโนโฟเรซิส เป็นการใช้เครื่องมือช่วยนำยาหรือวิตามินให้แทรกซึมลงสู่ผิวหนัง โดยทำให้รูขุมขนเปิดกว้าง  เพื่อให้ยาหรือวิตามินแทรกซึมลงสู่ชั้นผิวหนังได้มากกว่าการทาครีมหรือโลชั่นแบบปกติซึ่งจะอยู่ที่ผิวหนังชั้นนอก โดยการทำงานของเครื่องมือต่างกัน กล่าวคือ ไอออนโตโฟเรซีส เป็นการใช้กระแสไฟฟ้าปริมาณต่ำ เพื่อขยายรูขุมขนทำให้ยาหรือวิตามินแทรกซึมลงสู่ผิวหนังได้มากขึ้น ส่วนโฟโนโฟเรซิส เป็นการนวดโดยใช้คลื่นเหนือเสียง (Ultrasonic Wave) ทำให้ยาหรือวิตามินแทรกซึมผ่านผิวหนังได้มาก ขณะทำจะเกิดความร้อนจากคลื่นได้ และการใช้เครื่องทั้ง 2 ชนิด มีข้อห้ามในการใช้กับบุคคลได้แก่ ผู้ที่ใส่เครื่องกระตุ้นการเต้นของหัวใจ (Cardiac pacemaker), ผู้ป่วยโรคมะเร็งเพราะอาจทำให้มะเร็งแพร่กระจาย, หญิงตั้งครรภ์, ผู้ที่มีประวัติแพ้ยาตัวที่จะนำมาทำไอออนโตโฟเรซิส หรือโฟโนโฟเรซิส, ผู้ที่มีบาดแผล หรือติดเชื้อบริเวณผิวหนังที่จะทำ  ดังนั้นหากประชาชนไปรับบริการกับผู้ที่ไม่ใช่แพทย์จริงอาจเกิดอันตรายได้ 
อย่างไรก็ดี ขณะนี้คลินิกให้บริการที่ให้บริการด้านเสริมความงามต่างๆ มักโฆษณาผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย โดยใช้ภาพสถานที่และตัวอย่างบุคคลสวยงามเกินจริง  มีการแข่งขันราคาเพื่อดึงดูดผู้รับบริการ ดังนั้นก่อนรับบริการต้องตรวจสอบหลักฐานตั้งแต่ชื่อคลินิกหากเป็นภาษาอังกฤษจะต้องมีภาษาไทยกำกับ พร้อมเลขที่ใบอนุญาต 11 หลักที่ป้ายหน้าร้านซึ่งต้องตรงกับใบอนุญาตที่ติดในคลินิก รูปถ่ายของแพทย์หน้าห้องต้องตรงกับผู้ให้บริการ โดยสามารถตรวจสอบว่าเป็นแพทย์จริงหรือไม่ได้ที่เว็บไซต์แพทยสภา (www.tmc.or.th) และตรวจสอบคลินิกว่าถูกต้องหรือไม่ได้ที่เว็บไซต์กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (www.hss.moph.go.th) หากพบข้อผิดสังเกตให้แจ้งได้ที่สายด่วน คุ้มครองผู้บริโภค กรม สบส. 02 193 7999 หรือเฟซบุ๊ค สารวัตรสถานพยาบาลออนไลน์, มือปราบสถานพยาบาลเถื่อน กรมสบส.จะเร่งตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายทันที            

 
 

บันทึกโดย : วันที่ : 09 ต.ค. 2559 เวลา : 11:16:50

24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 7:36 am