ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
นายกฯชู ACD Connect ประสานพลังภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน


 



วันนี้ (9 ตุลาคม 2559) เวลา 09.30 น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมภาคธุรกิจในกรอบความร่วมมือเอเชียครั้งแรก (ACD Connect 2016)   ในหัวข้อบทบาทสำคัญของภาคธุรกิจต่อวิวัฒนาการของ ACD    (The Indispensable Role of Business in the Evolution of ACD) ณ โรงแรม Plaza Athénée Bangkok

พลโทวีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับการประชุมภาคธุรกิจกรอบความร่วมมือเอเชีย ๒๐๑๖ (ACD Connect Business 2016)  และรู้สึกเป็นเกียรติที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพลวัตใหม่ใต้กรอบ ACD ในวันนี้   เมื่อสี่สิบปีก่อน ครอบครัว ACD เริ่มจาก 18 ประเทศจนขยายเป็น 34 ประเทศในวันนี้ โดยครอบคลุมทุกอนุภูมิภาคของทวีปเอเชีย ซึ่งสะท้อนว่า การส่งเสริม "ความร่วมมือ" และ "การหารือ" อย่างเป็นมิตรและสร้างสรรค์ โดยนำจุดแข็งที่หลากหลายของเอเชีย ผนึกพลังขับเคลื่อนจะทำให้เอเชียเป็นประชาคมที่เติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง  เช่นเดียวกับหัวข้อหลักของการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย ครั้งนี้ คือ เอเชียหนึ่งเดียว หลากหลายในพลัง (One Asia, Diverse Strengths)

ภาคเอกชนถือเป็นพลังสำคัญในการสร้างพลวัตใหม่และความเข้มแข็งของ ACD โดยการประสานความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดระหว่าง ภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชนให้เอเชียเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ครอบคลุม สมดุลและยั่งยืน สามารถยืดหยัดอยู่ได้ท่ามกลางความผันผวนและความท้าทายต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่น และมีส่วนกระตุ้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกให้ฟื้นตัวด้วย

ดังนั้น การที่เอเชียจะเป็นหนึ่งเดียวได้จะต้องมีการเชื่อมโยงเพื่อร่วมมือกันดึงเอาศักยภาพที่หลากหลายของเอเชียออกมาอย่างสร้างสรรค์ เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เราควรจะเชื่อมโยงกันโดยเอเชีย เพื่อเอเชีย (Connectivity by Asia for Asia)

ทั้งนี้  การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นการลงทุนในระยะยาวที่มีผลตอบแทนชัดเจนในการลดต้นทุนการขนส่งสินค้า และคน และเป็นประโยชน์ในการเผยแพร่ข้อมูลความรู้ การกระจายสวัสดิการ ยกระดับความเป็นอยู่อย่างทั่วถึง และลดความเหลื่อมล้ำของการพัฒนาประเทศ ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ ADB ประมาณการณ์ว่า ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียจะมีรายได้ที่แท้จริงเพิ่มถึงอีกร้อยละ 6 หรือคิดเป็นเกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี ค.ศ. 2020 หากมีการลงทุนและก่อสร้างโครงข่ายคมนาคมที่จำเป็นได้ตามเป้าหมาย

WEF ประมาณว่า ภูมิภาคเอเชียมีความต้องการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสูงถึงประมาณปีละ 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 60  ของโลก ในทางปฏิบัติ จึงยังมีประเด็นความท้าทายต่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องพิจารณา อาทิ จะทำอย่างไรที่จะดึงดูดเงินทุนที่มีอยู่มากในเอเชียเพื่อตอบโจทย์ความต้องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคได้อย่างเพียงพอ โดยสอดคล้องกับความต้องการของแต่ละประเทศ ข้อจำกัดของพื้นที่ รวมทั้งการรักษาสิ่งแวดล้อม ทำอย่างไรจะส่งเสริมบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน รวมทั้งกลไกลงทุนร่วมภาครัฐ-เอกชนที่มีประสิทธิภาพ

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า  ประเทศไทยมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20  ปี ซึ่งให้ความสำคัญกับการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ผ่านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อยกระดับภาคการผลิตและบริการไปสู่ประเทศไทย 4.0  กำหนดสาขาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ปรับปรุงระบบบริหารราชการและปฏิรูปกฎระเบียบต่าง ๆ ไปพร้อมกับการเร่งยกระดับความเชื่อมโยงทางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้ครอบคลุม ครบถ้วนและมีประสิทธิภาพ ทั้งภายในประเทศและเชื่อมโยงกับประเทศสมาชิก ACD โดยได้จัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย วงเงิน 2.7  พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อระดมทุนจากภาคเอกชนและเป็นแหล่งเงินทุนในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ

นายกรัฐมนตรียังเสนอให้มีการคิดเห็นร่วมกันว่า ทำอย่างไรและด้วยกลไกอะไรที่จะทำให้เกิดการไหลเวียนและระดมเงินลงทุนข้ามประเทศจากแหล่งต่าง ๆ ด้วยการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน องค์กรและธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศต่าง ๆ เพื่อสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านโครงข่ายโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคมเพื่อรองรับความรุ่งเรืองของเอเชียได้อย่างเต็มที่

ฟินเทคสู่เอเชียเป็นสังคมไม่ใช้เงินสด

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า การเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมได้ช่วยให้เกิดความเชื่อมโยงด้านเงินทุน และการเงินในเอเชียยิ่งขึ้น นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ FINTECH ว่า ได้เปลี่ยนโฉมและกำลังเปลี่ยนโฉมภาคการเงินใน ACD หลายประเทศ ประเทศไทยเองก็ใช้ประโยชน์จากฟินเทคและได้ประกาศใช้แผนยุทธศาสตร์ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ ตั้งเป้าให้ไทยเป็นสังคมไร้เงินสดในอนาคต ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการบริหารจัดการเงินสดลงถึงกว่า 2  พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

เมื่อปีที่แล้ว เอเชียได้สร้างแรงกระเพื่อมให้กับโลกด้วยการลงทุนด้านฟินเทคเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า คิดเป็นมูลค่าถึง 4.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพราะฟินเทคได้เปลี่ยนแปลงชีวิตชาวเอเชียให้สะดวกและมีโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงินและเงินทุนยิ่งขึ้น ในอนาคต ชาวเอเชียทุกคนอาจไม่จำเป็นต้องถือเงินสดหรือบัตรเครดิตอยู่ในมือ ก็ซื้อของได้ ส่งเงินกลับประเทศได้โดยค่าบริการที่ไม่แพง เข้าถึงแหล่งทุนและเปิดธุรกิจได้ด้วยการระดมทุนจากผู้ที่เชื่อในธุรกิจ บนพื้นฐานของระบบที่เชื่อถือได้ มีประสิทธิภาพและปลอดภัย

ประเด็นท้าทาย นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงความท้าทายต่าง ๆ ทั้งในแง่ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานของแต่ละประเทศไม่เท่ากัน ไปจนถึงกฏระเบียบกติกาที่จะรองรับ และความปลอดภัยของระบบข้อมูล ซึ่งต้องหาแนวทางร่วมมือทั้งภาครัฐ-เอกชน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสร้างความรู้ความเข้าใจและหาแนวทางจัดการกับประเด็นความท้าทายต่าง ๆ อย่างสร้างสรรค์ โดยไม่ขัดขวางการพัฒนา แต่ส่งเสริมการเรียนรู้และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเอื้อต่อการพัฒนาความเชื่อมโยงทางการเงินโยงใยครอบคลุมได้ทั่วเอเชีย และโลก

วันนี้มีผู้แทนภาคการเงินธนาคาร ฝ่ายผู้กำกับดูแล และฝ่ายผู้ต้องการใช้ประโยชน์ฟินเทคมารวมตัวกัน จึงเป็นโอกาสดีที่จะมาเล่าประสบการณ์และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับโอกาสและความท้าทายที่ตามมาร่วมกัน โดยมุ่งใช้ประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยีเพื่อร่วมกันวางรากฐานความเชื่อมโยงทางการเงินในเอเชีย ขอให้ทุกท่านใช้ประโยชน์สูงสุดจากเวที ACD Connect 2016 ในวันนี้ ระดมสมองและสร้างเครือข่ายระหว่างกัน  ACD ควรเป็นแกนนำผลักดันการใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการพัฒนาและการเข้าถึงทางการเงินของเอเชีย

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมการประชุม ACD Connect จะเป็นวิวัฒนาการสำคัญของ ACD และเป็นกลไกที่ยั่งยืนของภาคเอกชนในครอบครัว ACD ต่อไป  เพื่อที่ภาครัฐและภาคเอกชนของประเทศสมาชิก ACD จะได้ร่วมกันสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของเอเชีย และขับเคลื่อนเอเชียสู่ความรุ่งเรืองอย่างยั่งยืน

 

 

LastUpdate 09/10/2559 13:08:36 โดย :

24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 8:01 am