วันนี้ (9 ตุลาคม 2559) เวลา 10.45 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้การต้อนรับนายฮัสซัน โรฮานี ประธานาธิบดีอิหร่าน ในโอกาสเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ณ ทำเนียบรัฐบาล โดยมีพิธีการตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ต่อด้วยการแนะนำคณะทางการฝ่ายไทยและฝ่ายอิหร่าน จากนั้น นายกรัฐมนตรีเชิญประธานาธิบดีอิหร่านไปยังห้องสีงาช้างด้านนอกเพื่อลงนามในสมุดเยี่ยม ก่อนการหารือทวิภาคี ณ ห้องสีงาช้างด้านใ
การเยือนครั้งนี้ นับเป็นการเยือนประเทศไทยระดับประธานาธิบดีครั้งแรกในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-อิหร่าน โดยในช่วงปีที่ผ่านมา มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันในระดับต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ การเยือนไทยของรองประธานาธิบดีอิหร่านและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน รวมถึง การเยือนอิหร่านของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นต้น
สำหรับสาระสำคัญในการหารือ พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปไว้ดังนี้
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับ นายฮัสซัน โรฮานี ประธานาธิบดีอิหร่านสู่ประเทศไทย และกล่าวขอบคุณประธานาธิบดีที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย ACD ครั้งที่ 2 ด้วยตนเอง พร้อมชื่นชมบทบาทที่แข็งขันของอิหร่านในกรอบ ACD ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งประธานาธิบดีอิหร่านได้กล่าวขอบคุณสำหรับการต้อนรับที่อบอุ่นและชื่นชมต่อการเป็นเจ้าภาพการประชุมฯ ที่มีการเตรียมการมาเป็นอย่างดี
ด้านความสัมพันธ์ทวิภาคี ไทย-อิหร่านมีความสัมพันธ์กันมายาวนาน ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยากับจักรวรรดิเปอร์เซีย ซึ่งการเยือนประเทศไทยครั้งนี้ นับเป็นการเยือนระดับสูงที่สุดครั้งแรกของฝ่ายอิหร่าน อันเป็นการยืนยันถึงมิตรภาพที่แน่นแฟ้นระหว่างสองประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีได้ย้ำว่า ไทยพร้อมที่จะกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันในแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นไปอีก
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงการพบกับ ดร. ซาริฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน ในระหว่างการประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือเอเชียครั้งที่ 14 ในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ว่า ได้มีการหารือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างกันในหลายประเด็น และไทยได้เสนอให้เร่งดำเนินการในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายมีความพร้อมและสามารถดำเนินการก่อนได้ในปีนี้ โดยให้มีการวางแผนความร่วมมืออนาคตในระยะกลางและระยะยาว ทั้งนี้ ไทยมีความพร้อมที่จะร่วมมือกับอิหร่านในทุกสาขา ซึ่งประธานาธิบดีอิหร่าน กล่าวว่า อิหร่านเองก็ให้ความสำคัญกับการเยือนประเทศไทยครั้งนี้ โดยได้นำบุคคลสำคัญของฝ่ายอิหร่านเดินทางร่วมคณะด้วย อาทิ รองประธานาธิบดีอิหร่าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พลังงาน เกษตร และเชื่อมั่นว่า ในการเยือนไทยครั้งนี้ จะเป็นสร้างความสัมพันธ์หน้าใหม่กับประเทศไทยในทุกๆด้าน
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่าย เห็นว่า การแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงและระหว่างภาคเอกชนของสองประเทศในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอิหร่านมีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมในหลายสาขา อาทิ ด้านการค้า การท่องเที่ยว พลังงาน วัฒนธรรม การเกษตรและการประมง และอิหร่านมีความพร้อมที่จะสานสัมพันธ์กับประเทศไทยในทุกๆด้าน
ด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า ไทยยินดีที่มีการลงนามความตกลงทางการค้าและมีการส่งคณะผู้แทนภาครัฐและเอกชนเยือนอิหร่าน เพื่อหาลู่ทางในการสร้างหุ้นส่วนทางธุรกิจ โดยในวันพรุ่งนี้ (10 ต.ค.2559) กระทรวงพาณิชย์จะเป็นเจ้าภาพการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า ครั้งที่ 1 ณ กรุงเทพฯ ขึ้น ซึ่งการประชุมดังกล่าวจะเป็นเวทีในการหารือและเพิ่มพูนมูลค่าทางการค้าและกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน
ด้านการเงินการธนาคาร ประธานาธิบดีอิหร่านประสงค์ให้มีการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างธนาคารของสองประเทศ เพราะเป็นพื้นฐานสำคัญของกิจกรรมทางธุรกิจและการค้าการลงทุนระหว่างภาคเอกชนของสองประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหารือในรายละเอียดต่อไป
ด้านพลังงาน สองฝ่ายเห็นถึงศักยภาพและโอกาสที่จะมีความร่วมมือระหว่างกันในสาขาพลังงานและพร้อมที่จะรื้อฟื้นการสำรวจและการผลิตปิโตรเลียมและก๊าซในอิหร่าน ซึ่งอิหร่านได้ตอบรับความต้องการของไทยที่จะฟื้นฟูความร่วมมือด้านพลังงานในกรอบบันทึกความเข้าใจด้านปิโตรเลี่ยมระหว่างกระทรวงพลังงานไทยกับกระทรวงปิโตรเลี่ยมอิหร่านด้วย
ด้านการเกษตร ประธานาธิบดีอิหร่านกล่าวชื่นชม ผลผลิตทางการเกษตร ผลไม้และอาหารแปรรูปของไทยว่ามีคุณภาพดี ในขณะที่ผลไม้ของอิหร่านก็มีชื่อเสียง โดยเฉพาะอินทผาลิมและแอปเปิ้ล ซึ่งสองประเทศสามารถส่งเสริมการนำเข้าผลไม้เหล่านี้ระหว่างกันได้
นอกจากนี้ อิหร่านยังแสดงความประสงค์ที่จะซื้อข้าวจากประเทศไทยรอบใหม่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สอบถามถึงความคืบหน้าในการซื้อข้าวจากไทยตามที่เคยได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการซื้อข้าว ซึ่งอิหร่านกล่าวว่า ขณะอยู่ระหว่างขั้นตอนการตรวจสอบมาตรฐานของฝ่ายอิหร่านซึ่งเป็นไปตามแนวปฏิบัติของกระทรวงสาธารณสุขที่ใกล้จะดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว โดยฝ่ายอิหร่านจะช่วยเร่งรัดในเรื่องนี้ต่อไป
ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ทั้งสองฝ่ายยินดีที่ในปีนี้ สายการบิน Thai AirAsia X และการบินไทย ได้เปิดเที่ยวบินตรง กรุงเทพฯ-กรุงเตหะราน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกันมากขึ้น โดยนายกรัฐมนตรีเสนอให้สองประเทศพิจารณาการส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกันแบบ Package เพื่อสร้างแรงจูงใจและเพิ่มมูลค่าในการท่องเที่ยวระหว่างกัน
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวแสดงความยินดีต่อการที่อิหร่านได้เข้าเป็นอัครภาคีของสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia – TAC) และเชื่อมั่นว่า การเข้าเป็นอัครภาคี TAC ของอิหร่าน จะช่วยเสริมสร้างให้สนธิสัญญาดังกล่าวเป็นแนวทางในการส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค
ข่าวเด่น