พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้การบริหารจัดการน้ำที่อยู่ในเขตชลประทานทั้งหมดสามารถควบคุมได้ ซึ่งแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่เขื่อนชัยนาท ทั้ง 2 ด้าน มีคันกั้นน้ำที่สามารถป้องกันหรือควบคุมการระบายน้ำไม่ให้น้ำล้นตามแนวคันกั้นได้ ส่วนพื้นที่ที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งถือว่าอยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ ก็จะเป็นปกติที่น้ำจะล้นเขาไปท่วมบ้าง โดยขณะนี้ได้มีการระบายน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยา ประมาณ 2,200 – 2,300 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำสูงขึ้นจากเดิมที่เคยควบคุมไว้ไม่มากนัก หากสถานการณ์ต่อจากนี้ไปอยู่ในเกณฑ์ดีก็จะมีการปรับลดการระบายน้ำลง จึงขอให้มั่นใจว่าน้ำจะไม่เอ่อล้นคันกั้นน้ำออกมาอย่างแน่นอน และน้ำส่วนใหญ่จะเร่งระบายลงสู่ทะเลโดยเร็วที่สุด
พลเอก ฉัตรชัย กล่าวต่อไปว่า การระบายน้ำจากเขื่อนป่าสัก ได้มีประมาณการไปอีก 7 วันข้างหน้า ถึงปริมาณน้ำเข้าและออก ซึ่งอาจจะมีผลมาถึงแม่น้ำที่อยู่เชื่อมโยงมาถึงแม่น้ำเจ้าพระยาได้ แต่อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานยังยืนยันว่าอยู่ในสถานการณ์ที่สามารถควบคุมได้ โดยมีจุดที่ต้องคอยกำกับดูแลมากที่สุด คือ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ขณะนี้สามารถระบายน้ำอยู่ที่ 2,100 ลบ.ม/วินาที หากจะทำให้ท่วมกรุงเทพได้นั้น พื้นที่ที่ อ.บางไทร ต้องมีปริมาณน้ำสูงถึง 3,500 ลบ.ม./วินาที และถึงแม้ว่าจะปล่อยน้ำจากเขื่อนป่าสักลงมาด้วยก็จะไม่มากไปกว่า 2,200 ลบ.ม./วินาที ทั้งนี้ ได้มีการทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กรมอุตุนิยมวิทยา หากสัปดาห์หน้าปริมาณฝนตกน้อยลง ก็จะมีการระบายน้ำจากเขื่อนลดลงด้วย
สำหรับพื้นที่ที่อยู่นอกคันกั้นน้ำหรือพื้นที่ตามริมแม่น้ำ นายกรัฐมนตรีได้มีความห่วงใยและได้สั่งการให้ช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งจะมีการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ (11 ต.ค. 59) โดยได้เตรียมให้สำนักงบประมาณช่วยดูแลตามหลักเกณฑ์ คือ 1) เป็นเงินช่วยเหลือผู้ที่ที่ได้รับผลกระทบ 2) หลังจากที่น้ำลดแล้ว ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเข้าไปช่วยฟื้นฟู 3) ระบบสหกรณ์จะมีมาตรการในการให้กู้ยืมเงิน และ 4) การผ่อนชำระหนี้ โดยให้ชะลอการผ่อนออกไป อย่างไรก็ตาม กรณีผู้ที่ประสบภัยพิบัติจะมีการช่วยเหลือตามระเบียบราชการอยู่แล้ว และจะเพิ่มเติมในการช่วยเหลือประชาชนก็ได้รับผลกระทบ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยก็ได้มีมาตรการใช้การช่วยเหลือด้วย เช่น การซ่อม การปรับปรุง เป็นต้น
“กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน จะไม่มีการปล่อยน้ำเข้าไปในแนวกั้นโดยเด็ดขาด โดยเฉพาะพื้นที่ที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยว โดยมีพื้นที่ที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวประมาณ 90 ไร่ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีพื้นที่เกษตรกรรมในแนวกั้นที่ได้รับความเสียหาย นอกจากว่าเกษตรกรจะเป็นผู้ร้องขอเพื่อใช้สำหรับฤดูแล้งหน้า ซึ่งต้องบริหารจัดการร่วมกับกรมชลประทาน โดยต้องมีความต้องการที่ชัดเจน ซึ่งอำเภอหรือจังหวัดต้องมีหนังสือรับรองด้วย และขณะนี้มีแผนการดำเนินการด้วยกัน 3 จุด อาทิเช่น อ.ป่าโมก อ.ผักไห่ และ อ.บางบาล ซึ่งถือเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ อย่างไรก็ตามจะไม่ให้เกิดความเสียหายต่อเกษตรกรที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวอย่างแน่นอน ทั้งนี้ หากมีการปล่อยน้ำและเกิดความเสียหายขึ้น รัฐบาลได้มีการเตรียมแผนสำรองไว้ โดยจะมีการชดเชยเพิ่มเติมอีกด้วย” พลเอก ฉัตรชัย กล่าว
ข่าวเด่น