ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ไทยขยายการค้าและการลงทุนกับอิหร่านเร่งสร้างความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน


 



ไทยประสบความสำเร็จในการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้ากับอิหร่าน อย่างเป็นรูปธรรม หลังกระทรวงพาณิชย์เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee: JTC) ระดับรัฐมนตรีระหว่างไทยกับอิหร่าน ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา ณ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นางอภิรดี ตันตราภรณ์) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เหมืองแร่ และการค้า (นายโมฮัมหมัด เรซา เนมัทซาเด) เป็นประธานร่วมในการประชุม ในระหว่างการเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีอิหร่าน (นายฮัสซัน โรฮานี) เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำกรอบความร่วมมือเอเชียที่ไทยเป็นเจ้าภาพ


นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการประชุม JTC ร่วมกับอิหร่าน ว่าไทยและอิหร่านต่างเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ โดยไทยสามารถเป็นความมั่นคงด้านอาหารและเป็นประตูสู่ตลาด CLMV และอาเซียนให้กับอิหร่าน ในขณะที่อิหร่านสามารถเป็นความมั่นคงด้านพลังงานและเป็นประตูสู่ตลาดประเทศเพื่อนบ้าน และภูมิภาค CIS ซึ่งไม่มีทางออกทะเล และมีประชากรกว่า 300 ล้านคน

 
นางอภิรดี กล่าวว่า สองฝ่ายได้หารือถึงแนวทางกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้า ให้มีเป้าหมายการค้าร่วมกันให้ถึง 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2564 (2021) และยังตกลงจะให้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงสิทธิพิเศษทางการค้า (Preferential Trade Agreement - PTA) เพื่อเร่งเปิดตลาดสินค้าระหว่างกัน ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการขยายการค้า การลงทุน และความร่วมมือเศรษฐกิจระหว่างกันอีกด้วย โดยคาดว่าการศึกษาดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในกลางปี 2560 นอกจากนี้ สองฝ่ายจะร่วมกันสนับสนุนกิจกรรมทางการค้าและความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนของสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
 

สำหรับการเปิดตลาดสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าว อิหร่านพร้อมที่จะเร่งรัดการดำเนินการตรวจสอบมาตรฐานข้าวไทย เพื่อให้ไทยสามารถส่งออกข้าวไปยังอิหร่านโดยเร็วที่สุด โดยไทยตั้งเป้าที่จะขยายการส่งออกข้าวไปยังอิหร่านให้ถึง 7 แสนตันต่อปี เหมือนช่วงก่อนอิหร่านโดนมาตรการคว่ำบาตร นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้แสดงความสนใจที่จะขยายสินค้าเกษตรระหว่างกัน โดยสินค้าที่อิหร่านมีความต้องการนำเข้าและเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ เช่น มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม ผลไม้เมืองร้อน อาหารทะเล ยางพารา เป็นต้น ในขณะที่อิหร่านต้องการส่งออกถั่วพิตาชิโอและฟิกซ์มาไทย


นอกจากนี้ ไทยพร้อมที่จะนำเข้าน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติจากอิหร่านซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของโลก รวมถึงผลิตภัณฑ์พลังงานอื่นๆ อาทิ น้ำมันดีเซล น้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้งประสงค์เข้าไปลงทุนในธุรกิจพลังงานร่วมกับอิหร่านและต้องการพัฒนาความร่วมมือในพลังงานทางเลือกกับอิหร่าน ทั้งนี้ ทั้งสองประเทศจะรื้อฟื้นความร่วมมือทางด้านพลังงานหลังจากที่ได้มีการลงนามมาตั้งแต่ปี 2547 โดยไทยพร้อมเดินหน้าเป็นเจ้าภาพการประชุมคณะทำงานร่วมด้านพลังงานในต้นปีหน้า เพื่อหารือและส่งเสริมภาคพลังงานระหว่างกันโดยเฉพาะ


 
ในการประชุม JTC ครั้งนี้ อิหร่านต้องการให้มีความร่วมมือและการลงทุนจากไทย ในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน อาหารแปรรูป สิ่งทอ และอัญมณี เป็นต้น นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายจะพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันทางด้านมาตรฐานฮาลาลและส่งเสริมการท่องเที่ยว และยังได้ร่วมกันหารือถึงแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนของกลไกการชำระเงินในการทำการค้ากับอิหร่าน เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศอีกด้วย
 


นางอภิรดี กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากความสำเร็จของการประชุม JTC ในครั้งนี้แล้ว ยังมีการดำเนินกิจกรรมการจับคู่ทางธุรกิจระหว่างเอกชนอิหร่านและเอกชนไทย กว่า 100 ราย รวมทั้งการหารือทวิภาคีระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เหมืองแร่ และการค้าอิหร่าน กับบริษัทชั้นนำของไทย ที่มีศักยภาพที่จะขยายการค้าการลงทุนไปยังอิหร่านอีกด้วย ซึ่งคาดว่าผลของกิจกรรมดังกล่าว จะช่วยส่งเสริมให้การค้าการลงทุนระหว่างไทยกับอิหร่านเติบโตได้อีกมาก


ไทยและอิหร่านมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมายาวนาน และภายหลังจากการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตร ไทยได้ดำเนินการสานความสัมพันธ์ทวิภาคีกับอิหร่านมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันอิหร่านเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 9 ของไทยในภูมิภาคตะวันออกกลาง ในปี 2558 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 310 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า อิหร่านเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลาง ที่มั่งคั่งด้วยแหล่งพลังงาน (น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ) และมีศักยภาพในการเป็นฐานกระจายสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาค CIS ซึ่งไม่มีทางออกทะเล ปัจจุบัน อิหร่านมีการจัดทำ PTA แล้วกับปากีสถานและตุรกี และอยู่ระหว่างการหารือจัดทำ PTA กับจีน อินเดีย และยูเรเซีย (เบลารุส คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน อาร์มีเนีย และรัสเซีย)
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 10 ต.ค. 2559 เวลา : 12:58:52

24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 7:51 am