ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
มกอช.รุกแผนปี 60 พัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตรไทย


 

ครบรอบ 14 ปี “มกอช.” ปรับกลยุทธ์พัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตรไทย พร้อมเสริมเขี้ยวเล็บเกษตรกร-ผู้ประกอบการลงสนามแข่งขันในตลาดโลก ขยายโอกาสทางการค้า ดึงรายได้เข้าประเทศเพิ่มขึ้น


นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เผยถึงทิศทางการดำเนินงานเนื่องโอกาสครบรอบวันสถาปนา มกอช. ปีที่ 14 ในวันที่ 9 ตุลาคม 2559 ว่า ในโอกาสที่ก้าวขึ้นสู่  ปีที่ 15 มกอช.ได้กำหนดเป้าหมายขับเคลื่อนการพัฒนาสินค้าเกษตรและอาหารของประเทศให้สอดรับกับนโยบาย       ไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล และนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่กำหนดให้ปี 2560 เป็นปีแห่งการยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความยั่งยืน พร้อมรองรับสถานการณ์การค้าที่เปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดนิ่ง โดยเฉพาะการแข่งขันด้านราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น รวมถึงกลไกการค้าของประเทศผู้นำเข้าที่มุ่งเน้นคุณภาพมาตรฐาน ความปลอดภัย และมีระบบตรวจสอบคุณภาพสินค้าเกษตรอย่างเข้มงวด มกอช.จึงได้มุ่งยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารไทยทั้งระบบ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดอาเซียน หรือ AEC และตลาดโลกด้วย

มกอช. ได้มีแผนกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรของประเทศให้ตรงความต้องการและสอดคล้องกับสากลแบบมีส่วนร่วม โดยตั้งเป้าจัดทำมาตรฐานเพิ่มเติมจากเดิมที่ประกาศใช้ไปแล้ว 258 เรื่อง ได้แก่ มาตรฐานข้อกำหนดทั่วไป 37 เรื่อง มาตรฐานสินค้า 96 เรื่อง และมาตรฐานระบบการผลิต 125 เรื่อง ซึ่งในปี 2560 นี้ จะเร่งจัดทำมาตรฐานทั่วไปเพิ่มอีก 13 เรื่อง และมาตรฐานบังคับ 2 เรื่อง ขณะเดียวกันยังมุ่งผลักดันมาตรฐานสินค้าเกษตรไทยสู่สากล โดยจะร่วมกำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศและมาตรฐานระดับภูมิภาค อาทิ มาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (Codex), มาตรฐานสุขภาพสัตว์โลก (OIE), มาตรฐานการอารักขาพืชระหว่างประเทศ (IPPC) และมาตรฐานอาเซียน คาดว่าจะเอื้อประโยชน์ต่อการผลิตและลดอุปสรรคในการส่งออกสินค้าเกษตรไทยหลายรายการในอนาคต ทั้งสินค้าพืชผัก ผลไม้ ปศุสัตว์ และสินค้าประมง

 “นอกจากนี้ ยังมีแผนเร่งสานต่อโครงการเครือข่ายเฝ้าระวังมาตรฐานสินค้าเกษตร ได้แก่ สถาบันการศึกษา กลุ่มผักปลอดภัย กลุ่มเกษตรอินทรีย์ ภาคเอกชน และองค์กรท้องถิ่น เป้าหมาย 20 เครือข่าย ใน 12 จังหวัด พร้อมตรวจสอบและวิเคราะห์ผลเพื่อการเฝ้าระวังมาตรฐานสินค้าเกษตร และเร่งเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการ/ผู้ส่งออกที่เกี่ยวข้อง   เพื่อรองรับมาตรฐานบังคับที่กระทรวงเกษตรฯจะประกาศบังคับใช้หรือมีผลบังคับใช้ในอนาคต อาทิ ถั่วลิสง โรงเพาะฟักลูกกุ้ง ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ โรงผลิตเชื้อเห็ด และทุเรียนแช่เยือกแข็ง รวมทั้งการจัดทำต้นแบบโรงผลิตเชื้อเห็ด 2 แห่ง และต้นแบบศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ 2 แห่ง อีกทั้งยังร่วมกับกรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ และกรมประมง มุ่งพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพด่านสินค้าเกษตร เพื่อรองรับสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น รวมทั้งการพัฒนาด้าน National Single Windows ซึ่งดำเนินการร่วมกับกรมศุลกากร” เลขาธิการ มกอช.กล่าว

ในปี 2560 มกอช.ยังมีแผนเร่งพัฒนาที่ปรึกษาเกษตรกรโดยเน้นสร้างความรู้ความเข้าใจในข้อกำหนดของมาตรฐานแก่เจ้าหน้าที่สังกัดกระทรวงเกษตรฯไม่น้อยกว่า 200 คน เพิ่มเติมจากเดิมที่มี 188 คน และพัฒนาต่อยอดเกษตรกร Q อาสาเดิมในพื้นที่ 5 จังหวัด เร่งเผยแพร่ความรู้ข้อกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรไปสู่เกษตรกรและผู้ประกอบการเพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้น ยังขยายผลการสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ภายใต้โครงการเกษตรเพื่อชีวิต เป้าหมาย นักศึกษา 300 คนใน 10 วิทยาลัย และขยายผลการสร้างเครือข่ายโรงเรียนต้นแบบอาหารปลอดภัย (Q School) ตลอดจนพัฒนาผู้ตรวจประเมินทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อเข้าสู่ระบบประกันคุณภาพตามมาตรฐานสากล และสร้างการยอมรับในการรับรอง

ขณะเดียวกัน จะร่วมกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนการส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ อาทิ โครงการส่งเสริมมาตรฐาน GAP ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่า/เขาหัวโล้น มีเป้าหมายนำร่องกว่า 50,000 ไร่ พร้อมส่งเสริมการผลิตพืชผักและผลไม้แปลงใหญ่ในจังหวัดพิษณุโลก และส่งเสริมการผลิตข้าว Q คุณภาพครบวงจรในจังหวัดศรีสะเกษ พัฒนาระบบการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดให้กับสหกรณ์ พื้นที่ 800 ไร่ ส่งเสริมการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าว พื้นที่ 1,350 ไร่ และส่งเสริมพัฒนาสินค้าเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่จังหวัดยโสธรร่วมกับจังหวัด เพื่อขับเคลื่อนยโสธรโมเดล รวมทั้งในพื้นที่อื่นที่มีศักยภาพ เพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรได้มาตรฐาน มีความปลอดภัย เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและสร้างโอกาสทางการตลาด ซึ่งจะทำให้กลุ่มเกษตรกรมีความเข้มแข็งมากขึ้น  อีกทั้งยังมุ่งนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการพัฒนาภาคเกษตร อาทิ การจัดทำตลาดออนไลน์เพื่อเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค เพื่อขยายช่องทางการตลาดและจำหน่ายสินค้ามาตรฐานของเกษตรกร รวมทั้งการพัฒนาระบบตามสอบสินค้าเกษตรสำหรับผู้ประกอบการ SME หรือ QR Trace บนระบบคลาวด์ และติดตามแก้ไขปัญหาให้กับผู้ประกอบการที่ใช้ระบบ QR Trace เชื่อมโยงข้อมูลด้านมาตรฐานและสุขอนามัยสินค้าเกษตรและอาหารกับประเทศคู่ค้าด้วย เช่น การใช้ระบบสารสนเทศแลกเปลี่ยนข้อมูลการออกใบรับรองเพื่อป้องกันปัญหาใบรับรองปลอม เป็นต้น

 นอกจากนั้น กระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายให้ มกอช. เร่งให้บริการรับรองระบบงานและรักษาระบบคุณภาพ ในฐานะที่ มกอช. เป็นหน่วยรับรองระบบงาน หรือ AB ด้านสินค้าเกษตรและอาหารของประเทศไทย พร้อมจัดทำความเท่าเทียมการรับรองระบบงานองค์กรระหว่างประเทศ และประเทศคู่ค้าที่สำคัญ อาทิ องค์กรรับรองระบบงานเอเชียแปซิฟิก (PAC), USFDA เป็นต้น ทั้งยังขยายผลการขึ้นทะเบียนห้องปฏิบัติการทั่วประเทศและพัฒนาศักยภาพบุคลากรห้องปฏิบัติการ และสนับสนุนการถ่ายโอนภารกิจการตรวจประเมินให้หน่วยตรวจและหน่วยรับรองเพิ่มเติมให้ครอบคลุมขอบข่ายต่างๆ อาทิ ขอบข่ายเกษตรอินทรีย์ด้านพืช และขอบข่ายใหม่ๆด้วย และยังมุ่งเจรจาแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรหลายรายการ รวมถึงผลักดันการเปิดตลาดสินค้าเกษตรใหม่ในต่างประเทศ เช่น มะม่วงฉายรังสี เป็ดปรุงสุก ข้าวโพดฝักอ่อน ถั่วลันเตา เป็นต้น เผยแพร่กฎระเบียบการนำเข้าและส่งออก และพัฒนาระบบแจ้งเตือนล่วงหน้าสินค้าเกษตรและอาหาร (Early Warning) ด้วย

“การดำเนินการในปีต่อไปมกอช. มีเป้าหมายส่งเสริมการบริโภคและการใช้วัตถุดิบคุณภาพโดยจะขับเคลื่อนการดำเนินการตรวจรับรองและติดตามร้าน Q restaurant ในพื้นที่ 76 จังหวัด  เป็นการตรวจติดตามร้านเดิมเพื่อสร้างความมั่นใจในมาตรฐานและตรวจรับรองร้านใหม่ โดยมีเป้าหมายให้มี Q Restaurant ในปี 2560 ทั่วประเทศ ไม่ต่ำกว่า 2,500 แห่ง และสร้างเครือข่ายโครงการฯร่วมกับมูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสมาคมภัตตาคารไทย มีเป้าหมายเพิ่มจำนวนร้าน Q restaurant ในพื้นที่ กทม.ไม่น้อยกว่า 50 ร้านค้า ซึ่งนอกจากจะช่วยยกระดับสินค้าเกษตรและอาหารของไทยให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน และมีความปลอดภัยสูงขึ้น เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคภายในประเทศแล้ว ยังคาดว่า จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตรและอาหารในตลาด AEC และตลาดโลกได้ และนำเงินรายได้เข้าประเทศเพิ่มสูงขึ้น แต่ทั้งนี้ มกอช. เป็นหน่วยงานด้านการมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร ที่ต้องดำเนินร่วมกับกรมต่างๆ อย่างใกล้ชิดทั้งในกระทรวงเกษตรฯ ไม่ว่าจะเป็น กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร กรมหม่อนไหม รวมทั้งหน่วยงานนอกกระทรวง เช่น กรมศุลกากร จังหวัด รวมทั้งภาคเอกชน และองค์กรผู้บริโภค เพื่อให้การขับเคลื่อนมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารของไทยประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย” น.ส.ดุจเดือน กล่าว
 

LastUpdate 10/10/2559 13:25:47 โดย : Admin

24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 7:32 am