ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ปภ.เตือน10 จ.ภาคกลาง ริมฝั่งเจ้าพระยา-ป่าสัก-ท่าจีนรับมือน้ำเอ่อ


 


นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ได้รับการประสานสถานการณ์น้ำจากกรมชลประทานว่า ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยามีแนวโน้มสูงขึ้นเกินกว่าระดับปกติ ประกอบกับไม่สามารถเพิ่มการรับน้ำเข้าสู่ระบบชลประทานทั้งด้านฝั่งตะวันตก และตะวันออกได้เต็มศักยภาพ เนื่องจากมีปริมาณน้ำหลากจากลำน้ำสาขาไหลลงสู่แม่น้ำ และคลองส่งน้ำที่ใช้เป็นทางลำเลียงออกสู่ทะเล ขณะที่ปัจจุบันพื้นที่การเกษตรที่จะใช้เป็นพื้นที่รับน้ำ เกษตรกรยังเก็บเกี่ยวผลผลิตไม่แล้วเสร็จ ไม่สามารถนำน้ำไปสำรองไว้ในพื้นที่ได้ ทำให้ต้องเพิ่มปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จากเดิมในอัตรา 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็นอัตรา 2,300 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที ส่งผลให้พื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น 25 – 75 เซนติเมตร อีกทั้งกรมชลประทานจะเพิ่มการระบายน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ตั้งแต่วันที่ 9 ต.ค. จากอัตราวันละ 50 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 580 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็นวันละ 60 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์สามารถรองรับน้ำที่ไหลลงเขื่อนได้
         
สำหรับปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนพระรามหก ได้วางแผนการบริหารจัดการน้ำ โดยส่งน้ำผ่านคลองระพีพัฒน์ และควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนพระรามหกในอัตราวันละ 60 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสาน 10 จังหวัดภาคกลาง ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม และสมุทรสาคร รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำเอ่อล้นตลิ่งจากระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำท่าจีนเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงประสานหน่วยชลประทานในพื้นที่เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ เปิดปิดประตูระบายน้ำให้สอดคล้องกับอัตราความเร็วของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำท่าจีน รวมถึงปริมาณฝน ที่ไหลมาสมทบ พร้อมแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณนอกแนวคันกั้นน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำท่าจีน ให้ติดตามสถานการณ์น้ำและประกาศเตือนภัยจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด
   
ทั้งนี้ ให้เตรียมพร้อมในการขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงให้พ้นจากแนวน้ำท่วม และระมัดระวังอันตรายจากการสัญจรทางน้ำ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำที่มีฝนตกหนักถึงหนักมากอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย เรือท้องแบน และรถปฏิบัติการประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย และสนธิกำลังเจ้าหน้าที่ อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) และทีมกู้ชีพกู้ภัยประจำตำบล (OTOS) ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ และเตรียมความพร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงจัดวางแนวกระสอบทรายและติดตั้งเครื่องสูบน้ำป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจของจังหวัดได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำเอ่อล้นท่วมพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำท่าจีน 

        

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 10 ต.ค. 2559 เวลา : 15:31:58

24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 7:28 am