อาเซียนและสหภาพยุโรป (อียู) มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่การสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างกันในปี 2520 โดยการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนและสหภาพยุโรปเป็นเวทีระหว่างภูมิภาคที่จัดขึ้นเป็นประจำทุก 2 ปี โดยมีรัฐมนตรีต่างประเทศจากประเทศสมาชิกอาเซียนและอียู เลขาธิการอาเซียน และผู้แทนระดับสูงด้านนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของอียู และรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เข้าร่วม เพื่อหารือแนวทางการเสริมสร้างความสัมพันธ์อาเซียน-อียู และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนจะหมุนเวียนกันเป็นประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับอียู ทุก ๆ 3 ปีโดยประเทศไทยได้รับตำแหน่งประเทศผู้ประสานงานฯ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2558
การประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนและสหภาพยุโรปครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างอาเซียน-อียูในทุกมิติ เพื่อปูทางไปสู่การยกระดับความสัมพันธ์ไปสู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ตลอดจนวางแนวทางความสัมพันธ์ระหว่างกันในอนาคต โดยรัฐมนตรีต่างประเทศ และผู้แทนระดับสูงจากประเทศสมาชิกอาเซียนและสหภาพยุโรป ตลอดจนเลขาธิการอาเซียน และผู้แทนระดับสูงด้านนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของอียู และรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป จะหารือกันในประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศที่อยู่ในความสนใจร่วมกันด้วย
อาเซียนและอียูเป็นหุ้นส่วนทางธรรมชาติ (natural partners) กล่าวคือ อาเซียนและอียูมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 227 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ จำนวน 19.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และในปี 2557 มีนักท่องเที่ยวจากประเทศสมาชิกอียูเข้ามาในอาเซียนถึง9.3 ล้านคน นอกจากนี้ อียูเป็นคู่ค้าลำดับที่ 3 ของอาเซียน เป็นผู้ลงทุนลำดับที่ 1 และมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในอาเซียนจำนวนมากที่สุดเป็นลำดับที่ 2 ของอาเซียน ทั้งสองภูมิภาคมีความมุ่งมั่นร่วมกันที่จะดำเนินนโยบายที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ตลอดจนส่งเสริมธรรมาภิบาล สิทธิมนุษยชน และส่งเสริมการเคารพในความแตกต่าง ในฐานะที่เป็นองค์กรระดับภูมิภาคที่มีจุดแข็งอยู่ที่ความแตกต่างเช่นเดียวกัน
ประเทศไทย ในฐานะประเทศที่มีความสัมพันธ์กับภูมิภาคยุโรปมาอย่างยาวนาน และเป็นประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับอียูในปัจจุบัน ให้ความสำคัญต่อการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนและสหภาพยุโรปครั้งนี้เป็นอย่างมาก ตลอดจนให้ความสำคัญกับการสร้าง momentum ให้กับความร่วมมืออาเซียน-อียู เพื่อให้มุ่งไปสู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ และเพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 40 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-อียู ในปี 2560
การประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนและสหภาพยุโรป ครั้งที่ 21 มุ่งให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์สูงสุดจากการประชุมครั้งนี้ ซึ่งรวมถึงคนพิการ ด้วยเหตุนี้ จึงจะมีการแปลพิธีเปิดการประชุมฯ เป็นภาษามือทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ เอกสารผลลัพธ์การประชุมจะมีทั้งในรูปแบบอักษรเบรลล์และรูปแบบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย
อนึ่ง ในการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนและสหภาพยุโรป ครั้งที่ 21 รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนและอียูจะร่วมกันรับรองปฏิญญากรุงเทพ และ Bangkok Roadmap for Elevating the ASEAN-EU Enhanced Partnership to a Strategic Level (2016 – 2017) ด้วย
ข่าวเด่น