กสทช. มอบหมายสำนักงาน กสทช.ร้องทุกข์ดำเนินคดีกับพนักงาน AWN ที่นำข้อมูลของลูกค้าไปเปิดเผยให้บุคคลภายนอก พร้อมมีมติกำหนดวันประมูลเบอร์สวย 27 พ.ย. 2559 เคาะราคาเริ่มต้นการประมูลเบอร์ 9 ตัวเหมือนเริ่มต้นที่ 20 ล้านบาท
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า วันนี้ (12 ต.ค. 2559) ที่ประชุม กสทช. ได้รับทราบรายงานผลการสอบข้อเท็จจริงกรณีพนักงานบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) นำข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าไปให้บุคคลภายนอก ซึ่งเรื่องนี้คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ที่แต่งตั้งโดยสำนักงาน กสทช. ได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดแล้ว แล้วก็ได้นำเสนอต่อที่ประชุม กทค. และที่ประชุม กสทช. ในวันนี้ มติที่ประชุมได้เห็นชอบที่จะมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. เป็นผู้รับมอบอำนาจจาก กสทช. ไปดำเนินคดีอาญาโดยการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ตามมาตรา 32 แห่งพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ที่กำหนดให้ กสทช. เป็นผู้เสียหายในเรื่องนี้ โดยจะไปดำเนินการร้องทุกข์ในวันพรุ่งนี้ (13 ต.ค. 2559) เพื่อแจ้งขอกล่าวหากับพนักงานของบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ที่ได้นำข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าไปให้บุคคลภายนอก ซึ่งจะมีความผิดตามพ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ที่จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ก็จะเป็นเรื่องของกระบวนการที่พนักงานสอบสวนจะดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไป
ในส่วนของการคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชน สำนักงาน กสทช. จะมีหนังสือแจ้งตักเตือนไปยังบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ให้มีความระมัดระวังอย่าให้พนักงานที่อยู่ภายใต้การดำเนินการนำข้อมูลของลูกค้าไปเปิดเผยเพราะจะมีความผิดตามพ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ที่กำหนดไว้ และจะมีหนังสือแจ้งไปยังผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนรายอื่นๆ ทั้งหมด เพื่อป้องกันปัญหาที่เกิดในอนาคตข้างหน้าด้วย
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเบื้องต้นของคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ที่แต่งตั้งโดยสำนักงาน กสทช. พบว่าบริษัทฯ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของพนักงานที่มีการนำข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าไปเปิดเผยต่อบุคคลภายนอก แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเรื่องนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการของพนักงานสอบสวนตามกฎหมายอาญา ซึ่งผลการสอบสวนออกมาอย่างไร กสทช. และสำนักงาน กสทช. ก็จะนำผลที่ได้มาประกอบการพิจารณาในการดำเนินการในส่วนอื่นต่อไป
สำหรับการกำกับดูแลได้มอบหมายให้รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการโทรคมนาคม ไปเสนอมาตรการต่างๆ เพื่อที่จะให้มีการตรวจสอบกระบวนการในการนำข้อมูลส่วนบุคคลต่างๆไปใช้ อาทิ กรณีมีหมายศาล หรือกรณีหน่วยงานความมั่นคงร้องขอ เมื่อให้ข้อมูลไปแล้วจะต้องมีกระบวนการที่ตรวจสอบได้ว่าไม่ได้มีการนำข้อมูลส่วนอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวกับที่หน่วยงานร้องขอมาให้ไปด้วย
จากนั้นที่ประชุม กสทช. ได้รับทราบ มติที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 24/2559 เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2559 ที่มีมติเห็นชอบในการเปิดประมูลเบอร์สวยจำนวนทั้งสิ้น 16 เบอร์ ในวันอาทิตย์ที่ 27 พ.ย. 2559 ซึ่งขณะนี้ขั้นตอนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดราคากลางต่างๆ ได้เห็นชอบในการกำหนดราคาเริ่มต้นการประมูล โดยเบอร์ 9 ตัวเหมือน 2 เบอร์ ได้แก่ 088-888-8888 และ 099-999-9999 ได้กำหนดราคาเริ่มต้นการประมูลที่ 20 ล้านบาท ส่วนเบอร์ 8 ตัวเหมือนอีก 14 เบอร์ ได้แก่ 088-888-8888 และ 099-999-9999 และเป็นเบอร์ 8 ตัวเหมือนอีก 14 เบอร์ได้แก่ 090-000-0000, 091-111-1111, 092-222-2222, 093-333-3333, 094-444-4444, 095-555-5555, 096-666-6666, 097-777-7777, 098-888-8888, 061-111-1111, 062-222-2222, 063-333-3333, 064-444-4444, 065-555-5555 กำหนดราคาเริ่มต้นการประมูลไว้ที่เบอร์ละ 6 ล้านบาท ทั้งนี้ ที่มาของราคาเริ่มต้นดังกล่าว สำนักงาน กสทช. ได้ไปตรวจสอบราคาเริ่มต้นของเบอร์ที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบันว่าราคาตลาด ถ้าเป็น 7 ตัวเหมือน จะมีการซื้อขายกันในตลาดในราคา 5 ล้านบาท ซึ่งราคาเริ่มต้นการประมูลทั้งหมดที่สำนักงาน กสทช. กำหนดนั้นเป็นราคาที่คิดว่าน่าจะรักษาผลประโยชน์ของรัฐมากที่สุดแล้ว
สำหรับการประมูลเบอร์สวยกำหนดจัดให้มีการประมูลในวันอาทิตย์ที่ 27 พ.ย. 2559 ณ สำนักงาน กสทช. โดยจะมีการลงทะเบียนล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 14 – 25 พ.ย. 2559 ณ สำนักงาน กสทช. ส่วนกระบวนการในการประมูลจะเป็นการประมูลแบบยกป้าย ซึ่งผู้ที่เสนอราคาให้สูงสุดจะเป็นผู้ชนะการประมูล สำหรับเงินวางหลักประกันการประมูลกำหนดไว้ที่ 10% ของราคาเริ่มต้นการประมูล
จากนั้น ที่ประชุม กสทช. ได้อนุมัติโครงการที่ขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) โครงการประเภทที่ 2 ประจำปี 2558 วงเงินรวมทั้งสิ้น 75,424,964.15 บาท ซึ่งภายใต้การอนุมัติโครงการดังกล่าวมีจำนวนทั้งสิ้น 11 ราย ดังนี้
1.โครงการติดตั้งระบบ ICT และการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงด้วยเทคโนโลยี Wi-Fi ในเขตพื้นที่สาธารณะของวัด ของสถาบันอาศรมศิลป์ วงเงิน 9,245,728.05 บาท
2.โครงการสร้างความเข้าใจของคนพิการและบุคคลทั่วไปเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ทีวีดิจิตอล ของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการประเทศไทย วงเงิน 4,437,322.10 บาท
3.โครงการส่งเสริมการผลิตและออกอากาศรายการโทรทัศน์ระบบดิจิตอลหมวดหมู่เด็ก เยาวชน และครอบครัว โดยมีหน่วยงานที่ผ่านการพิจารณา 4 หน่วยงาน คือ
-โครงการส่งเสริมการผลิตและออกอากาศรายการโทรทัศน์ระบบดิจิตอลหมวดหมู่เด็ก เยาวชน และครอบครัว ของมหาวิทยาลัยมหิดล วงเงิน 8,366,929 บาท
-โครงการรายการโทรทัศน์ ใต้ถุนลมโชย ของมูลนิธิเด็ก วงเงิน 9,092,530 บาท
-โครงการสนามเด็กเล่น...สื่อสร้างสรรค์เพื่อเด็ก เยาวชนและครอบครัว ของสถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วงเงิน 7,294,518 บาท
-โครงการสร้างสรรค์รายการโทรทัศน์ “ใต้หลังคา ฟ้ามีดาว” เพื่อการพัฒนาของเด็กปฐมวัย ของมหาวิทยาลัยรังสิต วงเงิน 5,246,023 บาท
4.โครงการพัฒนาต้นแบบสถานีโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการชุมชน (Community TV Prototype Statio) ซึ่งมีหน่วยงานที่ผ่านการพิจารณา 3 หน่วยงาน คือ
-โครงการพัฒนาต้นแบบสถานีโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี ของมูลนิธิสื่อสร้างสุข วงเงิน 3,494,160 บาท
-โครงการวิจัยและพัฒนาสถานีโทรทัศน์ชุมชน “พะเยาทีวี” ของสมาคมสื่อชุมชนจังหวัดพะเยา วงเงิน 3,389,050 บาท
-โครงการทีวีชุมชนอันดามันมั่นคง ของมูลนิธิรักษ์ไทย วงเงิน 3,927,000 บาท
5.โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาการจัดทำบริการคำบรรยายแทนเสียงในช่วงเวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกับเวลาออกอากาศ (Near Real-time Captioning) ขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย วงเงิน 11,510,204 บาท
6.โครงการศูนย์การเรียนรู้ ICT จิตอาสาแบ่งปันความรู้สู่โรงเรียนห่างไกลในถิ่นทุรกันดารผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา วงเงิน 9,421,500 บาท
จากนั้นที่ประชุม กสทช. ได้พิจารณาการดำเนินการตามกฎหมาย กรณีการกล่าวอ้าง กสทช. และสำนักงาน กสทช. เพื่อเรียกรับผลประโยชน์จากผู้มีความประสงค์จะประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง และได้มีมติมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้ที่ปลอมแปลงเอกสาร และกล่าวอ้าง กสทช. และสำนักงาน กสทช. อันจะส่งผลให้ กสทช. และสำนักงาน กสทช. เสียชื่อเสียงต่อไป
ต่อจากนั้นที่ประชุม กสทช. ได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการนำส่งเงินรายปีเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะของผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ และให้นำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
สำหรับสาระสำคัญของร่างประกาศฉบับนี้ ได้กำหนดอัตราการนำส่งเงินรายปีเข้ากองทุนฯ ดังนี้
-รายได้ส่วนที่ไม่เกิน 5 ล้านบาทแรก อัตราการนำส่งเงินรายปีเข้ากองทุน ร้อยละ 0.50
-รายได้ส่วนที่เกินกว่า 5 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 50 ล้านบาท อัตราการนำส่งเงินรายปีเข้ากองทุน ร้อยละ 0.75
-รายได้ส่วนที่เกินกว่า 50 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 500 ล้านบาท อัตราการนำส่งเงินรายปีเข้ากองทุน ร้อยละ 1.00
-รายได้ส่วนที่เกินกว่า 500 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 1,000 ล้านบาท อัตราการนำส่งเงินรายปีเข้ากองทุน ร้อยละ 1.75
-รายได้ส่วนที่เกิน 1,000 ล้านบาท ขึ้นไป อัตราการนำส่งเงินรายปีเข้ากองทุน ร้อยละ 2.00
ข่าวเด่น