ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
รองนายกฯ ประวิตรฯกำชับหน่วยความมั่นคงดำเนินคดีผู้ลักลอบเข้ามาทำงาน


 


‘รองนายกฯ ประวิตรฯ’กำชับ หน่วยความมั่นคงดำเนินคดีผู้ลักลอบเข้ามาทำงาน ย้ำ ไม่ขยายจดทะเบียนต่างด้าวรายใหม่เพิ่ม มติที่ประชุม กนร. เห็นชอบ 4 มาตรการดำเนินการหลังสิ้นสุดจดทะเบียนต่างด้าว 3 สัญชาติ ตามมติ ครม.เมื่อ 23 ก.พ.59 และยุทธศาสตร์บริหารจัดการแรงงานต่างด้าว 5 ปี

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (กนร.) ที่กระทรวงแรงงาน โดยที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบตามที่กรมการจัดหางาน ในฐานะฝ่ายเลขาฯ เสนอมาตรการดำเนินการหลังสิ้นสุดการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 คือการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด อำนวยความสะดวกการตรวจสัญชาติ เร่งรัดการนำเข้าแรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมายตาม MOU และบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานอย่างเป็นระบบ เห็นชอบยุทธศาสตร์บริหารจัดการแรงงานต่างด้าวปี 2560 - 2565 ใน 5 ด้าน คือ 1) การจัดระบบแรงงานเพื่อลดการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวโดยให้ขึ้นอยู่กับความต้องการแรงงานที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ 2) การควบคุม กำกับ ดูแลกระบวนการเข้ามาระหว่างการทำงาน และกลับออกไปของแรงงานต่างด้าว 3) การกำหนดมาตรฐานการจ้างงานแรงงานต่างด้าวให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล 4) การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวที่มีประสิทธิภาพ และ5) การติดตามประเมินผล

พลเอก ประวิตรฯ กล่าวต่อว่า หลักการสำคัญเราต้องควบคุมแรงงานต่างด้าวให้ได้ในทุกเรื่อง ซึ่งการควบคุมจะใช้เจ้าหน้าที่อย่างเดียวคงไม่ได้ แต่ต้องใช้ระบบการทำงานที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด การวางยุทธศาสตร์ 5 ปี ในอนาคตเพื่อการปฏิรูปการจัดหางานแรงงานต่างด้าว กระทรวงแรงงานต้องพิจารณาวางยุทธศาสตร์ร่วมกัน โดยต้องเปรียบเทียบว่าปัจจุบันใช้แรงงานต่างด้าวอยู่เท่าไหร่ และอีก 5 ปีข้างหน้าต้องใช้อีกเท่าไหร่ และคำนึงถึงงานที่เราจำเป็นต้องใช้แรงงานต่างด้าวเพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติ รวมถึงการพิจารณาการมีงานทำของคนไทยด้วย

ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรียังได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่ครอบคลุมตามแนวทางที่ กนร. เห็นชอบ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยให้กระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานหลักในการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้บริหารจัดการแรงงานต่างด้าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และแนวทางการบริหารจัดการตามที่ กนร.เห็นชอบการดำเนินการกับแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่เคยทำงานอยู่ในประเทศไทยไม่ได้เปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวรายใหม่ ขอให้หน่วยงานด้านความมั่นคงดำเนินการตรวจสอบ ปราบปราม จับกุมดำเนินคดีกับนายจ้างผู้นำพาแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้ามาทำงาน

“เรื่องการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์รัฐบาลพยายามได้ทำงานเต็มที่ ซึ่งมีความก้าวหน้าไปมาก และประเทศมหาอำนาจก็ได้ชื่นชมประเทศไทยว่าทำงานอย่างจริงจัง แต่ยังทำได้ไม่ถึง 100 เปอร์เซ็นตามที่ต้องการ โดยต้องทำให้เป็นมาตรฐานสากลมากขึ้น” พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าว

พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวให้มีประสิทธิภาพ ขณะนี้กระทรวงแรงงานมีแผนการจัดตั้งสำนักงานแรงงานไทยในสหภาพเมียนมาและกัมพูชา ซึ่งเป็นความต้องการของเอกอัครราชทูตทั้งสองประเทศด้วย เดิมบทบาทของสำนักงานแรงงานไทยในต่างประเทศจะดูแลแรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศ โดยจะเพิ่มบทบาทอื่นด้วย อาทิ ความร่วมมือด้านแรงงานกับประเทศต้นทาง การดูแลแรงงานต่างด้าวและครอบคลุมไปถึงความร่วมมือด้านการพัฒนาทักษะฝีมือให้ประเทศเพื่อนบ้านด้วย ซึ่งการเปิดสำนักงานแรงงานทั้งสองแห่งจะไม่กระทบกับงบประมาณ โดยจะปิดสำนักงานแรงงานในประเทศบรูไนและประเทศลิเบีย เนื่องจากมีภาระงานที่น้อยลง
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 12 ต.ค. 2559 เวลา : 17:23:42

24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 5:00 pm