อย. เตือนห้ามใช้ฟิลเลอร์เสริมขนาดหน้าอก เผยสารฟิลเลอร์ที่ขึ้นทะเบียนกับ อย. อย่างถูกต้องมีเพียงชนิดเดียว คือสารไฮยาลูรอนิกแอซิด จำนวน 36 ทะเบียน จาก 9 บริษัท เป็นยาที่นำเข้าจากต่างประเทศ การนำไปใช้เพื่อเสริมความงามจะต้องฉีดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จากสถานพยาบาลที่มีใบอนุญาตถูกต้อง
ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และโฆษก อย. เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการฉีดฟิลเลอร์เพื่อเพิ่มขยายขนาดหน้าอกของดารารายหนึ่งให้ใหญ่ขึ้นนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีความห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งสารฟิลเลอร์ที่ขึ้นทะเบียนกับ อย. อย่างถูกต้องมีเพียงชนิดเดียว คือ สารไฮยาลูรอนิก แอซิด (Hyaluronic acid) จำนวน 36 ทะเบียน จาก 9 บริษัท มีทั้งที่เป็นสารเดี่ยว และผสมยาชา มีปริมาณตัวยาหลากหลาย ตั้งแต่ขนาด 6 มิลลิกรัม จนถึง 25 มิลลิกรัม ต่อหนึ่งหลอดฉีดยา เป็นยาที่นำเข้ามาจากประเทศทั้งแถบยุโรป อเมริกา และเอเซีย เช่น สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส แคนาดา สวีเดน ไอร์แลนด์ เกาหลีใต้ เป็นต้น
ข้อบ่งใช้ที่อนุญาตคือ เป็นสารฉีดเติมเพื่อใช้สำหรับเพิ่มปริมาณของเนื้อเยื่อ เพื่อใช้ในการแก้ไขการยุบตัวของเนื้อเยื่อผิวหน้าเนื่องจากการบาดเจ็บหรือเสื่อมสภาพตามวัย เช่น แผลเป็น ริ้วรอยลึกปานกลางถึงลึกมาก และรอยยุบร่องแก้ม ใช้เพิ่มความโค้งมนของใบหน้าที่ต้องการ เช่น บริเวณโหนกแก้ม คาง และอื่น ๆ ใช้เพิ่มริมฝีปาก ขอบปาก หรือความอวบอิ่มของริมฝีปาก ส่วนข้อห้ามคือ ยานี้ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้สารไฮยาลูโรเนต ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่อเนื้อเยื่อตัวเองหรือโรคเบาหวาน เจ็บคอเป็นประจำ ปวดข้ออย่างเฉียบพลัน ผู้ป่วยเกิดคีลอยด์ง่าย คนท้องหรือให้นมบุตร คนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ห้ามฉีดลงไปในหลอดเลือด บริเวณรอบดวงตา กระดูก เอ็น พังพืด ห้ามใช้เพื่อเพิ่มขนาดหน้าอก และห้ามใช้ร่วมกับการรักษาอื่น ๆ เช่น การลอกผิว การขัดผิว การรักษาด้วยเลเซอร์ต่าง ๆ สำหรับข้อควรระวังคือ ก่อนการรักษา คนไข้ต้องได้รับข้อมูลเกี่ยวกับตัวยา ข้อห้ามใช้และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อไปว่า หากผู้บริโภครายใดมีความประสงค์ที่จะฉีดสารใดๆ เพื่อความสวยงาม ควรเข้ารับบริการฉีดกับสถานพยาบาลที่มีใบอนุญาตประกอบสถานพยาบาลตามกฎหมายและใช้โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น หากเกิดอันตรายจากการแพ้ ทางสถานพยาบาลก็จะรับผิดชอบและช่วยเหลือได้ทันท่วงที การลักลอบฉีดโดยหมอเถื่อน อาจได้รับสารฟิลเลอร์ปลอมหรือไม่ได้มาตรฐาน ไม่ผ่านการขึ้นทะเบียนจาก อย. ผิดทั้งกฎหมายและมีผลเสียที่ร้ายแรงอันตรายถึงชีวิต ที่ผ่านมา อย.ได้ตรวจสอบคลินิกและสถานยาบาลเสริมความงาม พบว่ามีการนำสารฟิลเลอร์ที่ไม่ผ่านการขึ้นทะเบียน นำมาใช้ในสถานพยาบาล ซึ่ง อย. มีการเตือน และตรวจจับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายอยู่เสมอ ๆ
ข่าวเด่น