วันนี้ (13 ตุลาคม 2559) นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้เป็นช่วงปิดเทอมของโรงเรียนต่างๆ เด็กจะอยู่บ้านและรวมกลุ่มกับเพื่อนๆไปเล่นตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งผู้ปกครองต้องคอยสังเกตและดูแลอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการลงเล่นน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุทำให้เด็กจมน้ำเสียชีวิตได้ ประกอบกับช่วงนี้ยังมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้ลำคลอง สระน้ำ มีปริมาณน้ำมากกว่าปกติ ไหลเชี่ยวแรงและมีระดับความลึกมาก ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการจมน้ำมากขึ้น
ปัจจุบันการจมน้ำยังคงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของเด็กไทย (อายุต่ำกว่า 15 ปี) ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2549-2558) เฉพาะเดือนตุลาคมเดือนเดียว มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตสูงถึง 1,101 คน ล่าสุดในปี 2559 (เดือน ม.ค.-ก.ค.) พบเด็กไทยจมน้ำเสียชีวิตไปแล้วถึง 327 คน นอกจากนี้จากการเฝ้าระวังข่าวจากสื่อของสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1-11 ตุลาคม 2559 พบว่ามีเด็กจมน้ำแล้วถึง 10 เหตุการณ์ เสียชีวิต 10 ราย บาดเจ็บ 2 ราย เกือบทั้งหมดเกิดเหตุในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเกือบทั้งหมดเป็นเด็กในกลุ่มวัยเรียน 7-14 ปี ทุกเหตุการณ์เกิดในฝายน้ำล้น คลอง และสถานที่ท่องเที่ยวทางน้ำ สาเหตุเกิดจากการไปเล่นน้ำกันเองตามลำพัง ขาดความรู้เรื่องกฎความปลอดภัยทางน้ำ
นายแพทย์เจษฎา กล่าวต่อไปว่า จากผลสำรวจล่าสุดของสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค พบว่าทุกกลุ่มอายุใส่เสื้อชูชีพขณะเดินทางทางน้ำ เพียงร้อยละ 15.7, เด็กไทยใส่เสื้อชูชีพขณะเดินทางทางน้ำ เพียงร้อยละ 18, ประชาชนร้อยละ 87.1 เห็นว่าการติดตั้งอุปกรณ์ช่วยเหลือที่หาง่าย (ขวดน้ำพลาสติก ถังแกลลอนพลาสติก เชือก ไม้) ไว้บริเวณแหล่งน้ำ สามารถลดความเสี่ยงต่อการจมน้ำได้, ประชาชนร้อยละ 68.8 เห็นว่าการติดตั้งป้ายคำเตือนบริเวณแหล่งน้ำ มีประโยชน์ต่อการป้องกันการจมน้ำของเด็ก นอกจากนี้ ยังพบว่าเด็กที่ชวนกันไปเล่นน้ำ ส่วนใหญ่จะรู้สึกคุ้นเคยกับแหล่งน้ำที่ไปเล่น โดยไม่ทราบสภาพใต้น้ำหรือระดับความลึกของน้ำที่เปลี่ยนแปลงไปภายหลังฝนตกหรือมีน้ำขังเป็นเวลานาน
คำแนะนำเพื่อความปลอดภัยจากการจมน้ำในช่วงหน้าฝนและช่วงปิดเทอม โดยขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ชุมชน ท้องถิ่น และประชาชน ดังนี้ 1.ชุมชนช่วยกันสำรวจแหล่งน้ำเสี่ยง ทำป้ายเตือนหรือแนวกั้นขอบบ่อ ติดตั้งอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำที่หาได้ง่ายไว้บริเวณแหล่งน้ำ 2.สอนให้คนในครอบครัวและเด็กรู้จักแหล่งน้ำเสี่ยงและวิธีการป้องกัน 3.ผู้ปกครอง ผู้ดูแลเด็กอย่าปล่อยเด็กเล่นน้ำตามลำพัง แม้ว่าจะเป็นแหล่งน้ำใกล้บ้านหรือแหล่งน้ำที่คุ้นเคยก็ตาม เพราะสภาพใต้น้ำ ระดับความลึกและความแรงของกระแสน้ำเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม 4.ไม่ยืนใกล้ขอบบ่อ เพราะช่วงหน้าฝนพื้นบริเวณขอบบ่อนิ่มและมีหญ้าปกคลุม อาจเกิดการลื่นไถลลงไปในน้ำ 5.ใช้เสื้อชูชีพ เสื้อพยุงตัว หรืออุปกรณ์ลอยน้ำได้อย่างง่าย (เช่น แกลลอนพลาสติกคล้องเชือกสะพายแล่งให้เด็กติดตัวไว้เสมอ) ทุกครั้งที่ทำกิจกรรมทางน้ำหรืออยู่ใกล้บริเวณแหล่งน้ำเสี่ยง (ทั้งคนที่ว่ายน้ำเป็นและว่ายน้ำไม่เป็น)
“อีกมาตรการสำคัญที่ต้องยึดไว้ใช้ยามฉุกเฉิน คือ “ตะโกน โยน ยื่น” ได้แก่ 1.ตะโกน คือ การเรียกให้ผู้ใหญ่มาช่วยและโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669 2.โยนอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวเพื่อช่วยคนตกน้ำเกาะจับพยุงตัว เช่น เชือก ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้โดยโยนครั้งละหลายๆ ชิ้น 3.ยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับ เช่น ไม้ เสื้อ ผ้าขาวม้า ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ นอกจากนี้ ในช่วงนี้หลายพื้นที่ยังคงมีน้ำท่วมขัง จึงต้องระมัดระวังและดูแลเด็กๆ ที่ลงเล่นน้ำในบริเวณน้ำท่วมเป็นพิเศษเพื่อป้องกันการจมน้ำ อีกกลุ่มที่สำคัญคือผู้สูงอายุ ก็ต้องระมัดระวังการจมน้ำเช่นกัน เพราะผู้สูงอายุอาจจะเกิดอาการหน้ามืด เป็นลม หรือหมดแรงจากการยกและย้ายสิ่งของต่างๆ ในช่วงน้ำท่วมนี้ลูกหลานต้องดูแลผู้สูงอายุในบ้านอย่างใกล้ชิด ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค โทร 02 590 3967 เว็บไซด์ www.thaincd.com หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422” นายแพทย์เจษฎา กล่าวปิดท้าย
ข่าวเด่น