เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการทันตแพทยสภาครั้งนี้ได้หารือประเด็นการร่างกฎกระทรวงตาม พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 ซึ่งได้หารือร่วมกับ รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี น.ส.อัจฉรา วงศ์แสงจันทร์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) พร้อมด้วย ผู้ตรวจราชการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และรองเลขาธิการ ปส.เข้าร่วมให้ข้อมูล โดยมีผู้แทนจากเครือข่ายทันตแพทย์ภาครัฐและเอกชน ชมรมทันตอาสา เข้าร่วมประชุมด้วย
ทพ.ไพศาล กล่าวต่อว่า ประเด็นที่หารือในวันนี้สืบเนื่องมาจาก พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 ซึ่งประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2559 และจะมีผลบังคับใช้ภายใน 270 วัน คือวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 มีจุดประสงค์คุ้มครองประชาชนและสิ่งแวดล้อมให้มีความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสี แต่เนื่องจากทันตแพทย์อยู่ภายใต้กฎหมายวิชาชีพทันตกรรม พ.ศ.2537 โดยมีหน้าที่ควบคุมผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมรวมทั้งประชาชนที่มารับบริการทันตกรรมอยู่แล้ว จึงได้มาให้ข้อมูลเพื่อหาแนวทางปฏิบัติให้เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย
นายกทันตแพทยสภา กล่าวว่า ผลการหารือได้ข้อสรุปดังนี้
1.ให้มีการขึ้นทะเบียนเครื่องกำเนิดรังสีทางทันตกรรมหรือเครื่องเอ็กซเรย์ทางทันตกรรม เพื่อประโยชน์ในการควบคุม การติดตามเพื่อความปลอดภัยในระดับชาติ โดยมีค่าขึ้นทะเบียนในอัตรา 1,000 บาท ระยะเวลา 5 ปี
2.ทันตแพทย์สามารถทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี (RSO- Radiation Safety Officer) ได้ โดยไม่ต้องสอบ เนื่องจากหลักสูตรทันตแพทยศาสตร์บัณฑิตมีการเรียนการสอนความรู้ด้านรังสีอยู่แล้ว ซึ่งสภาวิชาชีพจะส่งหลักสูตรให้ ปส.พิจารณาว่ายังมีส่วนขาดด้านใด ซึ่งจะมีการให้ความรู้เพิ่มในส่วนที่ขาด แต่หากจะมอบให้ผู้อื่นที่ไม่ใช่ทันตแพทย์เป็นผู้ดูแล จะต้องสอบประเมินเพื่อเป็นผู้ดูแล
3.ปส.จะทำเอกสารคู่มือการปฏิบัติงาน (Standard procedure) ในการทำงานทางรังสี เพื่อเป็นแนวทางในการทำงาน ซึ่งอาจกำหนดไว้ในการรับรองคุณภาพมาตรฐานโรงพยาบาล (Hospital Accreditation) และในอนาคตอาจจะมีการสุ่มตรวจสอบเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน
“ข้อสรุปทั้ง 3 ข้อข้างต้นเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย ทันตแพทย์ไม่ต้องสอบเป็นเจ้าหน้าที่ RSO ตามข้อเสนอที่ได้แจ้งไป ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติก็เห็นตรงกันว่าหลักสูตรทันตแพทยศาสตร์บัณฑิตมีการเรียนการสอนในเรื่องนี้อยู่แล้ว หลังจากนี้ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะเชิญทันตแพทยสภาเข้าร่วมในการร่างกฎกระทรวง โดยยึดหลักการข้อสรุปทั้ง 3 ข้อที่ได้ตกลงร่วมกันข้างต้น” ทพ.ไพศาล กล่าว
ข่าวเด่น