กรมควบคุมโรค เผยผลตรวจเด็กทารกศีรษะเล็ก รายที่ 3 ไม่พบเชื้อไวรัสซิกา เน้นย้ำช่วงนี้ฝนตกต่อเนื่อง ระวังอย่าให้น้ำขังจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
วันนี้ (17 ตุลาคม 2559) นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวภายหลังการประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค (EOC) ว่า ในช่วงนี้ยังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีน้ำขังตามภาชนะต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และทำให้ยุงลายมีจำนวนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ช่วงนี้พบผู้ป่วยโรคที่มาจากยุงลายเพิ่มจำนวนขึ้นเช่นกัน ทั้งโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา
อย่างไรก็ตาม จากที่กระทรวงสาธารณสุข มีการดำเนินมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกาอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง รวมถึงการรณรงค์ให้ประชาชนปฎิบัติตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ทำให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับโรคที่มาจากยุงลายเพิ่มขึ้น และตระหนักถึงความสำคัญในการร่วมกันกำจัดเพาะพันธุ์ยุงลายที่เป็นสาเหตุของโรคดังกล่าว รวมถึงเข้าใจและไม่รังเกียจผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกา เพราะปัจจุบันโรคติดเชื้อไวรัสซิกายังไม่มีรายงานการติดต่อจากการสัมผัส และไม่สามารถติดต่อทางลมหายใจ ซึ่งสามารถดำเนินกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ นอกจากนี้ ยังพบว่าตั้งแต่ต้นปี 2559 เป็นต้นมา มีการตรวจหาเชื้อไวรัสซิกาทางห้องปฏิบัติการเพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีการตรวจไปแล้ว 13,000 ตัวอย่าง ซึ่งการที่ประเทศไทยมีระบบการตรวจที่แม่นยำและส่งตัวอย่างตรวจมากขึ้น ทำให้ครอบคลุมทุกพื้นที่และสามารถพบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
นายแพทย์เจษฎา กล่าวต่อไปว่า สถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสซิกาในประเทศไทย ตั้งแต่ 1 ม.ค. - 14 ต.ค 2559 พบผู้ป่วยแล้ว 520 ราย ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (8 – 14 ต.ค 2559) พบผู้ป่วยรายใหม่ 79 ราย ซึ่งผู้ป่วยแต่ละสัปดาห์มีความใกล้เคียงกัน และสามารถควบคุมโรคได้ โดยพบผู้ป่วยในบางอำเภอ บางจังหวัดเท่านั้น สำหรับการเฝ้าระวังและติดตามในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ในพื้นที่ที่พบผู้ป่วย ขณะนี้มีหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อ 57 ราย คลอดแล้ว 12 ราย ทารกทุกรายมีอาการปกติ รวมทั้งหญิงตั้งครรภ์อีกรายที่ผลการตรวจอัลตร้าซาวด์สงสัยภาวะศีรษะเล็ก (ตามที่เป็นข่าว) นั้น ได้คลอดทารกแล้วเมื่อวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา ผลการตรวจทารกแรกเกิดเบื้องต้น มีอาการปกติและไม่เข้าเกณฑ์ศีรษะเล็ก แต่อย่างไรก็ตาม จะมีการตรวจโดยละเอียดอีกครั้งและติดตามทารกรายนี้อย่างใกล้ชิด ต่อไป นอกจากนี้ การเฝ้าระวังและสอบสวนทารกศีรษะเล็ก นั้น ยืนยันพบทารกมีภาวะศีรษะเล็กจากการติดเชื้อไวรัสซิกาในครรภ์มารดา 2 ราย และเด็กทารกศีรษะเล็ก รายที่ 3 (ตามที่เป็นข่าว) ผลตรวจทางห้องปฎิบัติการไม่พบเชื้อไวรัสซิกา จึงน่าจะเป็นภาวะศีรษะเล็กจากสาเหตุอื่น
สำหรับคำแนะนำในการใช้ผลิตภัณฑ์ไล่แมลงของหญิงตั้งครรภ์ นั้น ขอให้ใช้ผลิตภัณฑ์ไล่แมลงที่มีการขึ้นทะเบียนรับรองไว้อย่างชัดเจน เนื่องจากได้รับการประเมินด้านประสิทธิภาพแล้ว โดยผลิตภัณฑ์ไล่แมลงชนิดสารธรรมชาติที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ไม่แนะนำให้ใช้เนื่องจากความไม่ชัดเจนของข้อมูลด้านประสิทธิภาพ ซึ่งหลักการใช้ผลิตภัณฑ์ไล่แมลง โดยทั่วไปผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดมีระยะเวลาการออกฤทธิ์ไม่เท่ากัน จึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด ไม่ควรใช้ถี่เกินไป รวมถึงไม่ควรใช้บริเวณผิวหนังส่วนที่มีเสื้อผ้าปกคลุมไว้แล้ว กรณีใช้ร่วมกับผลิตภัณฑ์กันแดด ควรทาผลิตภัณฑ์กันแดดก่อนใช้ผลิตภัณฑ์ไล่แมลง
ส่วนอาการของผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ส่วนใหญ่อาการของโรคไม่รุนแรง และส่วนใหญ่ป่วยแล้วหายได้เอง อาการที่พบบ่อย ได้แก่ มีไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ จะมีปัญหาเฉพาะกับหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งมีหลักฐานทางระบาดวิทยาที่บ่งชี้ว่าอาจสัมพันธ์กับอาการศีรษะเล็กในทารกแรกเกิด อาการจะทุเลาลงภายในเวลา 2-7 วัน หากอาการไม่ดีขึ้นให้พบแพทย์โดยเร็ว
สถานการณ์โรคไข้เลือดออก ปัจจุบันพบผู้ป่วย 47,649 ราย เสียชีวิต 38 ราย ผู้ป่วยรายใหม่ในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา 1,305 ราย จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุดในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้แก่ สงขลา พัทลุง เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และปัตตานี สำหรับโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ยังคงมีจำนวนผู้ป่วย 13 ราย และไม่มีผู้เสียชีวิต ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
ข่าวเด่น