ก.แรงงานและหน่วยงานในสังกัด เดินหน้าจัดทำกรอบแนวทางการป้องกันและปราบปรามการทุจริต สร้างคู่มือแนวทางการทำงาน ตาม พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ เพื่อลดดุลยพินิจในการทำงาน สร้างระบบตรวจสอบภายในอย่างเข้มข้น และประเมินความเสี่ยงการทำงานทุกขั้นตอน
หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมเพื่อกำหนดกรอบแนวทางดำเนินงานการป้องกันและปราบปรามการทุจริต วันนี้ (18 ต.ค.59) ณ ห้องประชุมปลัดกระทรวงแรงงาน ชั้น 7 อาคารกระทรวงแรงงาน โดยมีวาระการพิจารณาเรื่อง การกำหนดกรอบแนวทางดำเนินงานเพื่อแปลงยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560 – 2564) สู่การปฏิบัติของกระทรวงแรงงาน สืบเนื่องจากที่คณะรัฐมนตรีที่ได้มีมติเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ชาติ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปราบการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560 – 2564) โดยกระทรวงแรงงานจะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องในแต่ละยุทธศาสตร์ ซึ่งยุทธศาสตร์หลัก คือ ยุทธศาสตร์ เรื่อง การพัฒนาระบบป้องกันการทุจริตเชิงรุก มีกลยุทธ์ที่ต้องดำเนินการ อาทิ เพิ่มประสิทธิภาพระบบงานป้องกันการทุจริต การสร้างกลไกการป้องกันเพื่อยับยั้งการทุจริต การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อลดปัญหาการทุจริต เป็นต้น
ปลัดประทรวงแรงงาน ได้มอบนโยบายการดำเนินงานการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแก่หน่วยงานต่างๆ สังกัดกระทรวงแรงงาน เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ดังนี้ 1.) ทุกหน่วยงานต้องจัดทำแผนการปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการทุจริต อาทิ การจัดทำแผนการฝึกอบรมและสร้างความเข้าใจให้แก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการทุจริต โดยต้องมีศูนย์หรือหน่วยงานผู้รับผิดชอบในการดำเนินการดังกล่าวด้วย 2.) การจัดทำคู่มือหรือแนวทางการปฏิบัติงาน ตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 เป็นแนวทางการปฏิบัติงานอย่างมีมาตรฐาน เพื่อลดการใช้ดุลยพินิจในการทำงานแต่ละขั้นตอน รวมทั้งควรมีการจัดทำการตรวจสอบรายการ (Check list) เพื่อเป็นระบบควบคุมภายในของแต่ละหน่วยงาน และรายงานต่อผู้อำนวยการและผู้ตรวจราชการกรมเพื่อตรวจสอบการทำงานต่างๆให้มีมาตรฐาน 3.) การประกาศมาตรการป้องการและปราบปรามการทุจริต ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 69/2557 เรื่อง มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ โดยให้ทุกหน่วยงานนำมาพิจารณาเพื่อเป็นหลักจัดทำมาตรการที่เหมาะสม 4.) การประเมินความเสี่ยงเกี่ยวกับการทำงานในแต่ละขั้นตอนที่จะเกิดขึ้นและควบคุมความเสี่ยงนั้นให้มีประสิทธิภาพ และ 5.) การจัดทำแบบประเมินหรือแบบสำรวจมาตรฐานความโปร่งใส่ เพื่อเป็นการจัดทำหลักฐานเชิงประจักษ์ในการดำเนินงานด้วย
“การทำงานจะต้องกำหนดขั้นตอนการทำงานตามตัวชี้วัดและดำเนินการตามแผนการปฏิบัติงานอย่างครบถ้วน มีการนำระบบของเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยในการปฏิบัติงานเพื่อหลีกเลี่ยงหรือป้องกันการทุจริต อาทิ ระบบ E-Payment ,E-claim เพื่อป้องกันเรื่องการรับเงินผ่านมือ เป็นต้น ทั้งนี้ พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ย้ำนโยบายสำคัญ เรื่องการลดการใช้ดุลยพินิจในการทำงาน การจัดทำมาตรฐานการทำงาน และจัดทำการประเมินความเสี่ยงในแต่ละขั้นตอนการทำงาน โดยต้องดำเนินการอย่างเข้มข้นและจริงจัง” ปลัดกระทรวงแรงงานกล่าวเพิ่มเติม
ข่าวเด่น