อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ให้อสม.ในพื้นที่ 9 จังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วม ออกดูแลสุขภาพกาย-ใจประชาชนอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งขอความร่วมมือประชาชน อย่าทิ้งขยะสิ่งปฏิกูลทุกชนิดลงน้ำท่วมขัง เพื่อลดความสกปรก และน้ำเน่าเสีย เผยกลิ่นน้ำเน่าจะชักนำให้ยุงรำคาญมาวางไข่ ยิ่งมีแหล่งน้ำเสียมากเท่าใด ยุงยิ่งชุม
นายแพทย์วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรมสบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมว่า ขณะนี้มีรายงานพื้นที่ประสบภัยน้ำป่าไหลหลากและน้ำเอ่อล้นตลิ่งในภาคเหนือและภาคกลาง 9 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี สุพรรณบุรี และสระบุรี กรมสบส.ได้ให้สำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพประจำเขต เฝ้าระวังผลกระทบกับสถานบริการสาธารณสุข พร้อมจัดส่งทีมวิศวกรฉุกเฉินเข้าดูแลอย่างทันท่วงที เพื่อให้สามารถจัดบริการดูแลประชาชนได้ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งขอความร่วมมือให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรืออสม.ในพื้นที่ ให้การดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานทั้งสุขภาพกายและใจอย่างต่อเนื่อง ดูแลผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยโรคเรื้อรังไม่ให้ขาดยา และให้ความรู้การป้องกันโรคที่มากับน้ำท่วม เช่น โรคอุจจาระร่วง ไข้หวัดใหญ่ น้ำกัดเท้า โรคตาแดง เป็นต้น จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
ทางด้านนายแพทย์นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรคกล่าวว่า ในพื้นที่น้ำท่วมขังติดต่อกันหลายวัน ปัญหาที่พบตามมาบางแห่งจะมีน้ำเน่าเสีย โดยเฉพาะจุดที่อยู่ใกล้แหล่งชุมชนและจุดที่มีน้ำท่วมอยู่ในลักษณะขังนิ่งไม่มีการไหลเวียนของน้ำ ทำให้เกิดยุงจำนวนมาก ซึ่งมักเป็นยุงรำคาญ ยุงชนิดนี้เป็นตัวการนำโรคไข้สมองอักเสบ และโรคเท้าช้างบางชนิดแต่พบได้น้อยมากในประเทศไทย โดยยุงรำคาญชอบวางไข่ในแหล่งน้ำเน่าเสีย กลิ่นเหม็นของน้ำเน่าจะชักนำยุงชนิดนี้มาวางไข่ ทำให้ยุงเพิ่มจำนวนได้รวดเร็ว ยิ่งมีแหล่งน้ำเสียมากเท่าใด ยุงยิ่งชุม จึงขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันลดแหล่งน้ำเน่า โดยไม่ทิ้งขยะหรือสิ่งปฏิกูลทุกชนิดลงในแหล่งน้ำท่วมขัง ขอให้ทิ้งลงในถังขยะที่มีฝามิดชิดหรือทิ้งลงในถุงพลาสติก ถุงดำ แล้วมัดปากถุงให้มิดชิด และนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี เพื่อร่วมกันลดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงรำคาญ รวมทั้งช่วยลดความสกปรกน้ำท่วมขังด้วย
ทั้งนี้นิสัยของยุงรำคาญ จะหากินตอนช่วงพลบค่ำ ในการป้องกันยุงชนิดนี้กัด ประชาชนจึงควรอยู่ในห้องที่ติดมุ้งลวด หรือกางมุ้งนอน หากจำเป็นต้องออกนอกบ้าน ขอให้สวมเสื้อผ้ามิดชิด และทาโลชั่นกันยุง เช่น ตะไคร้หอม ที่ผิวหนังนอกร่มผ้า นายแพทย์นิพนธ์กล่าว
ข่าวเด่น