สสว. เร่งดำเนินมาตรการฟื้นฟูกิจการ SME วงเงิน 2,000 ล้านบาท ตามมติ ครม. โดยปลัดกระทรวงการคลังเห็นชอบหลักเกณฑ์ และกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับความช่วยเหลือแล้ว รอนำเสนอคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมต่อไป ส่วนกองทุนพลิกฟื้นวิสาหกิจขนาดย่อม 1,000 ล้านบาทเริ่มปล่อยกู้ให้ SME ที่ประสบปัญหา ได้แล้ว 17 ราย วงเงิน 13.22 ล้านบาท
นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการฟื้นฟูกิจการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม งบประมาณ 2,000 ล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2559 ว่า สสว. ได้จัดตั้งคณะกรรมการดำเนินการเพื่อเตรียมการโดยมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2559 เห็นชอบหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือและกลุ่ม SMEเป้าหมายที่อยู่ในข่ายที่จะได้รับความช่วยเหลือว่า จะกว้างและมีความยืดหยุ่นมากกว่าการให้กู้ยืมตามโครงการกองทุนพลิกฟื้น วงเงิน 1,000 ล้านบาทที่ สสว. กำลังดำเนินการอยู่ โดยกองทุนพลิกฟื้นให้กู้ยืมปลอดดอกเบี้ยเป็นเวลา 7 ปี แก่ SME ที่ประสบปัญหาทางการเงินที่ได้ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ในขณะที่กองทุนฟื้นฟู 2,000 ล้านบาทจะให้การอุดหนุน หรือเข้าร่วมกิจการ หรือร่วมทุน หรือลงทุนกับ SME ที่ต้องการความช่วยเหลือทางการเงิน ซึ่งได้ยื่นคำขอเข้ามาทางศูนย์ช่วยเหลือ SME ของรัฐบาลที่กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้ดูแล (SMERescue Center) ดังนั้น วิธีการให้ความช่วยเหลือจะทำได้กว้างขวางมากกว่าการให้กู้ยืมเพียงอย่างเดียว นอกจากนั้นคณะกรรมการดำเนินการยังได้ตกลงให้ธนาคารของรัฐขนาดใหญ่ในสังกัดกระทรวงการคลังเข้ามาเป็นหน่วยร่วมดำเนินการกลั่นกรอง SME ที่ยื่นคำขอรับความช่วยเหลือ ซึ่งน่าจะช่วยให้การปฏิบัติงานจริงสามารถดำเนินไปได้รวดเร็ว
ในส่วนของกองทุนพลิกฟื้น วงเงิน 1,000 ล้านบาท ที่ สสว.ดำเนินการร่วมกับธนาคาร SME และภาคีอื่นๆ ได้แก่ สมาคมธนาคารไทย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ในระยะแรกยอมรับว่า การพิจารณากลั่นกรองการให้กู้ยืมทำได้ค่อนข้างช้า เพราะกระบวนการทำงานยังไม่ลงตัว แต่ได้พยายามปรับปรุงให้รวดเร็วขึ้น เพียงวันที่ 17 ตุลาคม 2559 กองทุนพลิกฟื้นได้อนุมัติเงินกู้ไปแล้ว 17 ราย วงเงินรวม 13.22 ล้านบาท เฉลี่ยรายละ 7.7 แสนบาท การอนุมัติเงินกู้ดังกล่าวนี้เป็นการให้ความช่วยเหลือแก่ SME ในหลากหลายประเภทธุรกิจ หลากหลายพื้นที่ เช่น เป็น SME ที่ประกอบกิจการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จังหวัดยะลา เพื่อให้ดำเนินกิจการต่อไปได้อย่างมั่นคง ช่วยการจ้างงาน สร้างรายได้ในท้องถิ่น จำนวน 2 รายๆ ละ 1.0 ล้านบาท เป็น SME ที่ประกอบกิจการด้านธุรกิจการเกษตรทั้งการผลิตปุ๋ย จำหน่ายถุงปุ๋ย ผลิตรถอีแต๋นและจำหน่ายอะไหล่ในจังหวัดภาคกลาง เพื่อเสริมสภาพคล่องและช่วยลดต้นทุนของกิจการ จำนวน 3 ราย เป็นวงเงิน 1.62 ล้านบาท เป็น SME ที่สมัครเข้าร่วมโครงการ SME Rescue Center จำนวน 2 ราย วงเงินรวม 2.0 ล้านบาท รวมทั้งได้ให้เงินกู้แก่ SME ที่ได้ยื่นแผนฟื้นฟูกิจการกับศาลล้มละลายแล้ว 1 ราย วงเงินรวม 1.0 ล้านบาท นอกจากนี้ในกรณีที่ SME ที่ยื่นขอกู้ แต่ปรากฏว่ายังไม่ได้เป็น NPL สสว. ได้ประสานไปยังธนาคารเจ้าหนี้เดิม เพื่อขอเพิ่มวงเงินสินเชื่อ เป็นการส่ง SME กลับเข้าสู่ระบบสถาบันการเงิน
ขณะนี้มี SME ที่ยื่นขอรับความช่วยเหลือทางการเงินมายังกองทุนพลิกฟื้นและSME Rescue Center มากกว่า 3,000 ราย นอกจากความช่วยเหลือด้านการเงินแล้ว สสว. ยังให้คำปรึกษาแนะนำในการปรับรูปแบบการทำธุรกิจ (Business Model) ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งการสนับสนุนการเข้าร่วมโครงการพัฒนา SME ของ สสว. เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การเพิ่มช่องทางการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ การช่วยหาสถานที่จำหน่ายสินค้าโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ข่าวเด่น