หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์พลังงาน บมจ.ไทยออยล์ รายงานสถานการณ์ราคาน้ำมัน ประจำวันที่ 21 ต.ค. 2559 ราคาน้ำมันดิบปรับลด หลังค่าเงินสหรัฐฯ แข็งค่า และอุปทานน้ำมันดิบจากรัสเซียปรับเพิ่ม
(-) ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงราวร้อยละ 2 หลังแตะระดับสูงสุดในรอบ 15 เดือนเมื่อวันก่อนหน้า เนื่องจากค่าเงินสกุลดอลล่าร์สหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือนเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ส่งผลให้นักลงทุนหันไปทำกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนของสกุลเงินแทน แม้ว่าสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA)จะเผยถึงปริมาณน้ำมันดิบคงคลังที่ปรับลดลง แต่ปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังที่ปรับเพิ่มขึ้น 2.5ล้านบาร์เรลยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กดดันตลาด
(-) รัสเซียปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบในเดือน ก.ย.ของตนไปที่ 11.11 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากมีการเพิ่มกำลังการขุดเจาะน้ำมันดิบหลังราคาน้ำมันดิบดีดตัว ส่งผลให้ตลาดยังคงกังวลว่าความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศโอเปก (OpEC) และรัสเซียที่จะการคงกำลังการผลิตหรือปรับลดกำลังการผลิตนั้นเป็นไปได้ยาก นอกจากนี้ รัสเซียยังเผยว่ากำลังการผลิตในกรุงมอสโคมีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้นอีกราว 200 ล้านตันต่อปีหรือประมาณ 4 ล้านบาร์เรลต่อวัน
(+) ธนาคารโลกปรับคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในปี 2560 เพิ่มขึ้น 2 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลมาอยู่ที่ 55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากคาดการณ์ว่ากลุ่มประเทศโอเปกมีแนวโน้มที่จะคงหรือปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบในเวลาอันใกล้ โดยทั่วไปในช่วงปลายปีซาอุดิอาระเบียจะลดกำลังการผลิตของตนลงราว 400,000 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากความต้องการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าสำหรับเครื่องปรับอากาศจะลดลงในช่วงหน้าหนาว อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นทำให้หลายแหล่งผลิตเพิ่มกำลังการขุดเจาะ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบไม่สามารถดีดตัวสูงได้มากนัก
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังในสิงคโปร์ที่ปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 6 สัปดาห์
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากอุปทานที่ปรับเพิ่มขึ้นจากตะวันออกกลาง และปริมาณการส่งออกน้ำมันดีเซลของอินเดียที่ปรับเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 8.1 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า หลังความต้องการภายในประเทศลดลง
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์หน้า
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ48-52เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 49-53เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
จับตาการประชุมกลุ่มโอเปกในวันที่ 28 -29 ต.ค. ที่เมืองเวียนนา เพื่อหารือเกี่ยวกับเพดานปริมาณการผลิตของแต่ละประเทศในกลุ่มโอเปก และระยะเวลาในการลดกำลังการผลิต พร้อมกันนี้ กลุ่มโอเปกจะเชิญผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ด้วย
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดว่าจะมีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่อง หลังล่าสุดสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA)รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุด ณ วันที่ 14 ต.ค. ปรับตัวลดลง5.2 ล้านบาร์เรล เนื่องจากการนำเข้าจากแคนาดาที่ลดลง และคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องในสัปดาห์หน้า
อุปทานน้ำมันดิบจากไนจีเรียยังคงปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 22% จากปัจจุบัน มาแตะระดับ 2.2 ล้านบาร์เรลในปลายปีนี้ ประกอบกับ ลิเบียที่มีแนวโน้มเพิ่มกำลังการผลิตต่อเนื่อง ยังคงส่งผลกดดันราคาน้ำมัน โดยล่าสุดการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียแตะระดับ 0.58 ล้านบาร์เรลต่อวัน อีกครั้ง หลังแหล่งน้ำมันดิบ Waha กลับมาดำเนินการได้แล้วในสัปดาห์ที่ผ่านมา
โดย หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์พลังงาน บมจ.ไทยออยล์ ประจำวันที่ 21 ต.ค. 2559
ข่าวเด่น