นายกรัฐมนตรีประธานพิธีเปิดการประชุมสัมมนานโยบายการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการ เชิงยุทธศาสตร์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561
วันนี้ (21 ตุลาคม 2559) เวลา 10.25 น. ณ ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเปิดประธานพิธีเปิด การประชุมสัมมนา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 โดยมีผู้ร่วมงาน จำนวน 1,000 คน ประกอบด้วย รองนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี หัวหน้าส่วนราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ส่วนราชการ รัฐวิสากิจ หน่วยงานอื่นของรัฐ และสื่อมวลชน
นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดการประชุมการจัดทำแผนงบประมาณฯ ว่า เพื่อให้การดำเนินการของส่วนรัฐบาลที่เป็นเจ้าภาพ ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ จังหวัด และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง กับการจัดทำแผนงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ รวมไปถึงเจ้าหน้าที่สำนักงบประมาณ และเจ้าหน้าที่ส่วนราชการที่เป็นหน่วยงานกลาง ได้ดำเนินงานร่วมกัน ให้สอดคล้องตามมติคณะรัฐมนตรี สำนักงบประมาณจึงจัดการประชุมสัมมนาเพื่อให้หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่น ผู้ว่าราชการจังหวัด และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้รับทราบนโยบาย ของรัฐบาล และนำไปใช้ในการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม มีความคุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเปิดงานการประชุมสัมมนา พร้อมทั้งกล่าวมอบนโยบายการจัดทำแผนงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ตอนหนึ่งว่า จากการดำเนินงานตามแผนงบประมาณเดิมที่มีอยู่แล้ว ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภายในและภายนอกประเทศ อยู่ในระดับที่น่าพอใจ ซึ่งภาครัฐ ไม่สามารถบริหารประเทศได้เพียงลำพัง ประชาชนทุกคน ทุกหน่วยงาน ต้องร่วมมือกันมุ่งมั่นที่จะพัฒนาประเทศไปพร้อมกัน จึงจำเป็นต้องมีแผนงานงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อเป็นแนวทางการบริหารจัดการงบประมาณให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แต่สิ่งที่ต้องมีเพิ่มเติมคือ กฎหมายที่จะสามารถรับรองระบบโครงสร้างและการดำเนินการจัดสรรงบประมานในการพัฒนาประเทศไทย ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน ทั้งนี้ ทิศทางของประเทศจะเป็นเช่นไร ก็ขึ้นอยู่กับงบประมาณ ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัด เจ้าหน้าที่ทุกคนจะต้องมีแนวทางการจัดทำแผนงบประมาณที่สามารถตรวจสอบได้อย่างโปร่งใส จัดทำร่วมกันทุกหน่วยงานอย่างต่อเนื่องเชื่อมโยงทั้งในส่วนของภาครัฐบาล ข้าราชการ ต้องบูรณาการการทำงานตั้งแต่ระดับล่างจนถึงระดับบน พร้อมกับการสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนที่จะเดินหน้าประเทศไทยในรูปแบบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ตามหลักสากล
อย่างไรก็ตาม การจัดทำแผนงบประมาณฯ จะต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 ปี พร้อมทั้งอยู่ในกรอบของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอีก 20 ปี โดยต้องคำนึงถึงความเป็นอยู่ของประชาชนและสวัสดิการเป็นหลัก สำหรับผู้ที่มีรายได้น้อย เนื่องมาจากประชากรส่วนใหญ่ของประเทศเป็นผู้ที่มีรายได้น้อย จำเป็นต้องจัดทำแผนงบประมาณฯ 1 ปี เพื่อต่อยอดการปฏิรูปในอีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยงาน และทุกคนจะต้องร่วมมือกันจัดหางบประมาณฯ แบบงบผูกพันระยะยาว ทำให้เกิดการไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชนในการตรวจสอบเรื่องความโปร่งใส ที่สำคัญก็คือหางบประมาณก็ต้องเริ่มจากกลุ่มที่มีความพร้อมเสียก่อนเพื่อกระจายความเชื่อมโยงไปในทุกกลุ่ม
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า ทุกคนคือ ผู้นำที่นำความเจริญก้าวหน้ามาสู่ประเทศในอนาคต เพราะฉะนั้น เจ้าหน้าที่และประชาชนในทุกภาคส่วน จะต้องเรียนรู้ศึกษาหาข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ร่วมกันคิดหาแนวทางการจัดทำแผนงบประมาณฯ ที่แตกต่างจากแผนงบประมาณเดิมที่จะสอดคล้องการดำเนินการทั้งหมด สามารถเชื่อมโยงไปสู่การต่อยอดของกระทรวงร่วมกันได้ ทั้งนี้ รัฐบาลจะดำเนินการสนับสนุนทางด้านกฎหมาย เพื่อให้แผนงานดังกล่าวสามารถนำมาปฏิบัติได้จริง โดยดำเนินงานในรูปแบบของประชารัฐ ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมตามเจตนารมณ์ที่จะก้าวเติบโตไปพร้อมกัน
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานทุกกระทรวงเป็นตัวกลาง ของประชาชน และเป็นศูนย์กลางของการจัดทำแผน คำนึงถึงแนวทางอนาคตในรูปแบบที่แตกต่าง บูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วน ดำเนินงานตามนโยบายความมั่นคงทางทรัพยากรมนุษย์ ประชาชนเดินหน้าขับเคลื่อน ในระยะยาว จากแผนงบประมาณระยะยาวลงมาถึงแผนงบประมาณปัจจุบัน จัดทำแผนงบประมาณฯ ต้องเป็นศูนย์กลางสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน ให้เข้าใจถึงแนวทางการดำเนินงานตามแผนงบประมาณฯ และประชาชนสามารถควบคุม ตรวจสอบ กำหนดงบประมาณได้ พร้อมกับจัดระบบการประกอบอาชีพให้มีการกระจายรายได้จากสินค้าผลิตภัณฑ์ที่แตกต่าง รวมทั้งนำเอกลักษณ์ที่แตกต่างของในแต่ละพื้นที่มาปรับเปลี่ยนให้มีความทันสมัยเพิ่มมูลค่าให้สินค้า เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนได้อย่างทั่วถึง ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะต้องดำเนินการควบคู่กับการจัดสรรงบประมาณที่มีอยู่เพื่อหาแนวทางที่จะสร้างรายได้ให้กับประเทศ พัฒนาประเทศให้มีแนวทางในอนาคต ที่จะสามารถต่อยอดการพัฒนาเพื่อคนรุ่นใหม่ ซึ่งจะนำประเทศไทยไปสู่ ไทยแลนด์ 4.0 ที่มีความเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยังยืนต่อไป
ข่าวเด่น