นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ครั้งที่ 3/2559
นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ครั้งที่ 3/59 เห็นชอบผังการจัดพื้นที่ราชพัสดุเพื่อรองรับการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษกาญจนบุรี เห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้พัฒนาพื้นที่เพื่อการลงทุนในที่ราชพัสดุในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พร้อมเห็นชอบให้ กนอ. จัดซื้อที่ดินเอกชน 1,730 ไร่ จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส
วันนี้ (21 ตุลาคม 2559) ณ ตึกสันติไมตรีหลังใน ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ครั้งที่ 3/2559 ร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ภายหลังการประชุม นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ ร่วมกันแถลงผลการประชุม กนพ. ซึ่งมีมติที่สำคัญ 5 เรื่อง ดังนี้
1. ที่ประชุมเห็นชอบผังการจัดพื้นที่ราชพัสดุเพื่อรองรับการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษกาญจนบุรี พร้อมรับทราบแผนการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษกาญจนบุรี (ฉบับปรับปรุง) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 – 2564 และเห็นชอบโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงด้านการป้องกันประเทศในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และโครงการด้านการพัฒนาเพื่อเสริมความมั่นคงและการดูแลรักษาพื้นที่สงวนหวงห้าม ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดิน พ.ศ. 2481 โดยให้ขอรับการสนับสนุนจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 งบกลางฯ และทำความตกลงในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณต่อไป
2. เห็นชอบผลการคัดเลือกของคณะทำงานสรรหา คัดเลือก และเจรจาผู้ลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ที่ให้บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ได้รับสิทธิพัฒนาที่ราชพัสดุ เนื้อที่ประมาณ 895-0-44 ไร่ ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตราด ตามที่กรมธนารักษ์เสนอ และให้กรมธนารักษ์พิจารณาจัดให้บริษัทฯ เช่าที่ราชพัสดุดังกล่าว ตามกฎ ระเบียบ และขั้นตอนของทางราชการต่อไป
3. เห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้พัฒนาพื้นที่เพื่อการลงทุนในที่ราชพัสดุในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตามข้อเสนอของกรมธนารักษ์สำหรับใช้เป็นแนวทางสรรหา ผู้ลงทุนในระยะต่อไป อาทิ ผ่อนคลายระยะเวลาจัดทำข้อเสนอการลงทุนจาก 60 วัน เพิ่มเป็น 90 วัน และเปิดกว้างให้ผู้เสนอการลงทุนสามารถเสนอผลงานย้อนหลังไม่เกิน 3 ปี ครอบคลุมประสบการณ์ในลักษณะการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างใดอย่างหนึ่งได้ เช่น การค้า การลงทุน โลจิสติกส์ บริการ หรือภาคการผลิต (อุตสาหกรรมทั่วไป/นิคมอุตสาหกรรม) เป็นต้น
4. เห็นชอบให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจัดซื้อที่ดินเอกชน เนื้อที่ประมาณ 1,730 ไร่ จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส เพื่อสนับสนุนให้เกิดโครงการนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สำหรับเป็นแหล่งแปรรูปผลผลิตและจ้างงานประชาชนในพื้นที่
5. รับทราบความก้าวหน้าการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (1) ปัจจุบันมีเอกชนยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก สกท. ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก สระแก้ว มุกดาหาร หนองคาย เชียงราย สงขลา กาญจนบุรี และตราด จำนวน 40 โครงการ วงเงินรวม 7,211.55 ล้านบาท โดยผ่านการอนุมัติแล้ว 28 โครงการ วงเงิน 5,574.66 ล้านบาท (2) แรงงานกัมพูชาและแรงงานเมียนมาได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานลักษณะไป-กลับหรือตามฤดูกาลได้แล้ว (3) โครงการโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากรที่ได้รับงบประมาณปี 2559 สามารถดำเนินการได้ตามแผนงาน (4) การจัดหาที่ดินของรัฐเพื่อใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระยะที่สองจะดำเนินการในนครพนมและกาญจนบุรีก่อน (5) การได้รับจัดสรรงบประมาณแผนงบประมาณบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์เรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยในปีงบประมาณ 2558 ได้รับจัดสรรงบกลาง 2,377.76 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2559 ได้รับจัดสรรงบประมาณตามแผนงานบูรณาการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 6,168.91 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2560 ได้รับจัดสรรงบประมาณตามแผนงานบูรณาการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 3,305 ล้านบาท
ข่าวเด่น