ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กรมควบคุมโรคเตือนระวัง 10 เมนู เสี่ยงเจ็บป่วยโรคระบบทางเดินอาหาร


 


 
กรมควบคุมโรคเตือนระวัง 10 เมนู เสี่ยงเจ็บป่วยโรคระบบทางเดินอาหารพร้อมแนะรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ ป้องกันอาหารเป็นพิษ

วันนี้ (23 ตุลาคม 2559) นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค  กล่าวว่า ในช่วงนี้พสกนิกรหลายจังหวัดทั่วประเทศไทยได้แสดงพลังสามัคคีร่วมกิจกรรมในพิธีถวายความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ สถานที่ต่างๆทั่วประเทศ โดยเฉพาะบริเวณท้องสนามหลวง และบริเวณรอบพระบรมมหาราชวัง ซึ่งมีประชาชนและร้านค้าจำนวนมากจัดบริการอาหารและเครื่องดื่มฟรีให้กับพี่น้องประชาชนที่มาเข้าร่วมถวายสักการะและลงนามแสดงความอาลัย อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้มีสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวทำให้อาหารบูดเสียได้ง่าย ประชาชนจึงมีความเสี่ยงเจ็บป่วยจากโรคระบบทางเดินอาหารสูง
          
จากข้อมูลรายงานการเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา  กรมควบคุมโรค  ตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม –  17 ตุลาคม 2559 ทั่วประเทศพบผู้ป่วยอาหารเป็นพิษ 102,673 ราย  ไม่มีผู้เสียชีวิต และพบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วง 939,529 ราย  เสียชีวิต 4 ราย  และตลอดทั้งปี 2558 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยอาหารเป็นพิษ 129,638 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต และพบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วง 1,097,751  ราย เสียชีวิต 12 ราย  ดังนั้นในช่วงนี้ขอให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในการรับประทานอาหารและน้ำดื่ม ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่ปรุงเองที่บ้าน อาหารสั่งซื้อ หรือออกไปรับประทานอาหารตามจุดต่างๆ นอกบ้าน
          
นายแพทย์เจษฎา กล่าวต่อไปว่า อาหารที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบบทางเดินอาหารที่ประชาชนควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ 10 เมนู ได้แก่ 1.ลาบ/ก้อยดิบ  2.ยำกุ้งเต้น  3.ยำหอยแครง/ยำทะเล 4.ข้าวผัดโรยเนื้อปู  5.อาหารหรือขนมที่มีส่วนประกอบของกะทิสด  6.ขนมจีน 7.ข้าวมันไก่ 8.ส้มตำ  9.สลัดผัก และ 10.น้ำแข็งที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งเมนูอาหารเหล่านี้ควรรับประทานเฉพาะที่ปรุงสุกใหม่ สำหรับอาหารทะเลขอให้ปรุงสุก หลีกเลี่ยงการปรุงโดยวิธีลวกหรือพล่าสุกๆ ดิบๆ ส่วนอาหารประเภทเนื้อสัตว์ หมู ไก่ และไข่  ควรปรุงให้สุกก่อนรับประทานทุกครั้ง ไม่รับประทานแบบสุกๆ ดิบๆ นอกจากนี้ อาหารถุง อาหารกล่อง ควรแยกกับข้าวออกจากข้าว และควรรับประทานภายใน 2- 4 ชั่วโมงหลังจากปรุงเสร็จ และหาก มีกลิ่นผิดปกติไม่ควรรับประทานเด็ดขาด เพื่อป้องกันโรคอาหารเป็นพิษและโรคอุจจาระร่วง
          
สำหรับการป้องกันทั้งสองโรคดังกล่าว ขอแนะนำให้ปฏิบัติ ดังนี้ ในกลุ่มผู้ประกอบการอาหาร ขอให้ปรุงอาหารให้สุกด้วยความร้อนทั่วถึงและสะอาด  ล้างผัก/ผลไม้ด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง หลีกเลี่ยงการใช้มีด เขียง หั่นอาหารดิบและอาหารสุกแล้วร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อโรค ดูแลครัวให้สะอาด  ส่วนผู้บริโภคขอให้ยึดหลัก “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” ได้แก่ 1.กินร้อน คือ รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ในกรณีข้าวกล่อง อาหารถุง ต้องนำมาอุ่นให้ร้อนก่อนรับประทาน 2.ใช้ช้อนกลาง คือ เมื่อรับประทานอาหารในหมู่มากร่วมกัน ควรใช้ช้อนกลางในการตักอาหาร  และ 3.ล้างมือ คือ ต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร ก่อนปรุงอาหาร หลังขับถ่าย และหลังสัมผัสสิ่งสกปรก
       
“ โรคอาหารเป็นพิษและโรคอุจจาระร่วง มีอาการคล้ายกัน คือ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลวบ่อยครั้ง อาจมีไข้ ส่วนการดูแลเบื้องต้น ให้ดื่มน้ำละลายผงน้ำตาลเกลือแร่ (โอ อาร์ เอส) เพื่อป้องกันการขาดน้ำ  หากอาการไม่ดีขึ้น ยังถ่ายบ่อย รับประทานอาหารไม่ได้ กระหายน้ำมากกว่าปกติ หรืออุจจาระเป็นมูกปนเลือด ขอให้ไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน ถ้ามีข้อสงสัยประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422 ” นายแพทย์เจษฎา กล่าวทิ้งท้าย
  
 

บันทึกโดย : วันที่ : 23 ต.ค. 2559 เวลา : 11:27:49

23-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 23, 2024, 8:44 pm