เมื่อ 26 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2559 ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ เห็นชอบยุทธศาสตร์การปฏิรูปปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ระยะยาว20ปี (60 - 79) มีแผนงานหลักที่ต้องเร่งดำเนินการใน6ด้าน ครอบคลุมอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการออกรายละเอียดว่าจะดำเนินการอย่างไร รวมถึงการออกพ.ร.บ.ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ซึ่งทุกอย่างจะเป็นไปตามขั้นตอน
ด้านนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่าได้จัดตั้งอนุกรรมการขึ้นมา 6 ชุด แยกตามการทำงานในด้านต่างๆ เช่น การตลาด นวัตกรรม การผลิต และการบริหารจัดการตามแผนปฏิรูป 6 ด้าน ในเรื่องของน้ำมันปาล์มและปาล์มน้ำมัน โดยพลเอกประวิตร ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดูแลราคาน้ำมันปาล์มให้ดีขึ้น รวมถึงดูการตลาดว่าจะทำอย่างไรให้ราคาน้ำมันปาล์มสะท้อนกับราคาตลาดได้ และทำอย่างไรให้ผลิตสินค้าที่มีนวัตกรรมมากขึ้น ทั้งสินค้าเพื่อการบริโภครวมถึงเครื่องสำอาง
ด้านพลังงานทดแทนมีแผนปรับสัดส่วนการใช้น้ำมันปาล์ม หรือไบโอดีเซล (บี100) ผสมดีเซลให้มีสัดส่วนสูงขึ้นจาก 3% และ 5% เป็น 10% และ 20% ในอนาคต ในส่วนนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมวางแนวทางเพื่อให้มีการผลิตและใช้เครื่องยนต์ที่สามารถรองรับน้ำมันที่มีสัดส่วนของน้ำมันปาล์มสูงขึ้นด้วย
นอกจากนี้ต้องเพิ่มเปอร์เซ็นต์น้ำมันในปาล์ม (Productivity) จากปัจจุบันที่ 17-18% ให้มากขึ้น เพราะปัจจุบันประเทศมาเลเซียมีในส่วนนี้ถึง 23% แล้ว ด้านการบริหารจัดการจะต้องบริหารในเรื่องของคุณภาพโรงงานและกำลังการผลิตที่ปัจจุบันใช้อยู่เพียง 30% รวมทั้งปฏิรูปให้ปริมาณการผลิตและปริมาณความต้องการมีความสมดุลกัน
สำหรับยุทธศาสตร์ 6 ด้าน ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ที่ 1 การผลิต ตั้งเป้าหมายเพิ่มเปอร์เซ็นต์น้ำมัน จากปัจจุบัน 17% เป็น 23% ในสิ้นปี 2579 เพิ่มผลผลิตต่อไร่และลดต้นทุนจาก 2.5 ตันต่อไร่ เป็น 3.5 ตันต่อไร่ในสิ้นปี 2579 ,ยุทธศาสตร์ที่ 2 เรื่องนวัตกรรม โดยการพัฒนาอุตสาหกรรมโอเลโอเคมีคอลขั้นต้น และขั้นสูงโดยการส่งเสริมให้มีการใช้และการลงทุนในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม การวิจัยและพัฒนา พัฒนาผลิตภัณฑ์ บูรณาการองค์ความรู้ มีการศึกษาพัฒนาอุตสาหกรรมโอเลโอเคมีคอล และปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันทั้งระบบเพื่อรองรับอุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคอล
ยุทธศาสตร์ที่ 3 มาตรฐานโดยมีการพัฒนาทั้งการเพาะปลูกเก็บเกี่ยว การซื้อขายผลปาล์มโรงงาน และการพัฒนาตลอดห่วงโซ่อุปทาน, ยุทธศาสตร์ที่ 4 พลังงาน โดยเพิ่มสัดส่วน การใช้ไบโอดีเซล สูงขึ้นเป็น B10 ในปี 2569 และ B20 ภายในสิ้นปี 2579, ยุทธศาสตร์ที่ 5 การบริหารจัดการ โดยจะมีการบริหารเพื่อให้เกษตรกรได้ราคา ที่เหมาะสม เป็นธรรมและมีปริมาณเพียงพอกับความต้องการ โดยบริหารอุปสงค์ อุปทานให้สอดคล้องกันและจะยกเลิกมาตรการ แทรกแซงตลาดตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป มีการขยายตลาดผลิตภัณฑ์ เชื่อมโยงเอสเอ็มอี กับอุตสาหกรรมการผลิตน้ำมันปาล์มและ โอเลโอเคมีคอล ตลอดจนผลักดันการส่งออกปาล์มน้ำมันไปยังประเทศในกลุ่ม CLMV ยุทธศาสตร์ที่ 6 การบริหารจัดการ จะมีการผลักดัน พ.ร.บ.ปาล์มน้ำมัน ให้มีผลบังคับใช้ ภายในกรอบเวลา ซึ่งคาดว่าจะมีการเสนอร่างกฎหมายให้ครม.พิจารณาภายในปี 2560 และมีผลบังคับใช้ในปี 2561
ข่าวเด่น