ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
สศก.ลงพื้นที่กำแพงเพชรประเมินประสิทธิภาพโลจิสติกส์สินค้าพืชผักภายใต้เเปลงใหญ่ประชารัฐ


 


สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ลงพื้นที่กำแพงเพชร สำรวจและประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการกิจกรรม โลจิสติกส์และโซ่อุปทานในพื้นที่ อำเภอพรานกระต่าย ภายใต้แปลงใหญ่ประชารัฐ วิเคราะห์โลจิสติกส์สินค้าเกษตรตลอดโซ่อุปทาน ครอบคลุม 3 มิติ ได้แก่ ต้นทุน เวลา และความน่าเชื่อถือ แนะสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรด้วยการรวมกลุ่ม ทำแผนบริหารจัดการสินค้าเกษตร

นางสาวจริยา สุทธิไชยา  เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลสำรวจและประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการกิจกรรมโลจิสติกส์และโซ่อุปทานในพื้นที่ อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งเป็นพื้นที่ภายใต้ระบบส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ (แปลงใหญ่ประชารัฐ) ซึ่งจากการลงพื้นที่ของ สศก.ระหว่างวันที่ 20-22 กันยายน 2559  โดยการสัมภาษณ์และแบบสอบถามตามโปรแกรมการจัดการฐานข้อมูลการประเมินตัวชี้วัดประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์สินค้าเกษตร (Agricultural Logistics Performance Index : ALPI) วิเคราะห์ เปรียบเทียบผลการประเมินด้าน โลจิสติกส์สินค้าเกษตร ตลอดโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ครอบคลุม 9 กิจกรรมหลัก ใน 3 มิติ คือ มิติต้นทุน มิติเวลา และมิติความน่าเชื่อถือ เช่น การวางแผนความต้องการของลูกค้า การสื่อสาร การจัดซื้อจัดหาปัจจัยการผลิต/วัตถุดิบ การเก็บเกี่ยวและรวบรวมการผลิต การบรรจุหีบห่อ การจัดการคลังสินค้า/สินค้าคงคลัง และการขนส่งผลผลิต เป็นต้น

            สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่สำรวจข้อมูลและสัมภาษณ์ ได้แก่ ผู้มีบทบาทหลักในการดำเนินโครงการแปลงใหญ่ประชารัฐ ประกอบด้วยสมาชิกและผู้นำสหกรณ์ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ที่ร่วมโครงการ (สหกรณ์การเกษตรเขตปฏิรูปที่ดินตะแบกงามร่วมใจพัฒนา จำกัด และกลุ่มผู้ปลูกผักปลอดภัยตำบลคลองพิไกร ผู้ปลูกผักปลอดภัย บ้านตะแบกงาม) สหกรณ์จังหวัดกำแพงเพชร        ในฐานะ Single Command จังหวัด เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรที่รับผิดชอบแปลงประชารัฐ (เกษตรตำบล) และกรรมการหอการค้าจังหวัดกำแพงเพชร โดยผลการประเมินประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์พืชผักใน 3 มิติ ที่สำคัญ พบว่า

          1) มิติต้นทุน การขนส่ง เป็นต้นทุนที่เกษตรกรสมาชิกและสถาบันเกษตรกรรับภาระค่าใช้จ่ายมากที่สุด โดยเกษตรกรสมาชิก มีต้นทุนขนส่งร้อยละ 0.59 ขณะที่สหกรณ์มีต้นทุนขนส่งร้อยละ 8.27 ของยอดขาย เนื่องจากเกษตรกรขนส่งไปยังที่ทำการกลุ่มซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้าน รวมทั้งบางรายส่งให้กับพ่อค้าคนกลางที่มารับซื้อถึงบ้าน ขณะที่สหกรณ์ขนส่งผักไปยังตลาดทั้งภายในจังหวัด จังหวัดข้างเคียงและกรุงเทพฯ ต้นทุนขนส่งของสหกรณ์จึงสูงกว่าเกษตรกร

          2) มิติเวลา ระยะเวลาการเก็บเกี่ยว รวบรวม คัดแยกและบรรจุ ก่อนขนส่ง โดยเกษตรกรสมาชิกและสหกรณ์สามารถดำเนินการได้ภายใน 24 ชั่วโมง ตามคำสั่งซื้อของลูกค้าและเป็นการรักษาความสดของผลผลิต ซึ่งเกษตรกรสมาชิกใช้เวลาเก็บเกี่ยวและรวบรวมผลผลิต (คละเกรด) ประมาณ 4 ชั่วโมง ขณะที่สหกรณ์ใช้เวลารวบรวม ทำความสะอาด คัดแยกเกรด และบรรจุภัณฑ์ ประมาณ 6 ชั่วโมง ส่วนระยะเวลาขนส่ง เกษตรกรใช้เวลาขนส่งผักไปยังสหกรณ์ หรือพ่อค้าในหมู่บ้าน ประมาณ 15 นาที ขณะที่สหกรณ์ใช้เวลาขนส่งผักไปยังลูกค้าไม่เกิน 2 ชั่วโมง

          3) มิติความน่าเชื่อถือ อัตราความสูญเสียของผลผลิต (ตั้งแต่ระดับฟาร์มจนถึงปลายทาง) พบว่า เกษตรกรสมาชิกมีความสูญเสียของผลผลิตประมาณร้อยละ 4 ขณะที่สหกรณ์มีความสูญเสียร้อยละ 3 ต่อยอดขาย สาเหตุหลักมาจากที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ไม่ได้ขนาด และเสียหายบอบช้ำจากการบรรจุภัณฑ์และขนส่ง

ทั้งนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องมีข้อเสนอแนะในการบริหารจัดการโลจิสติกส์ โดยเห็นว่า ภาครัฐควรดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์สินค้าเกษตร ได้แก่ สนับสนุนกลุ่มเกษตรกรให้มีพัฒนาโรงคัดแยก/บรรจุ ให้มีมาตรฐานสูงขึ้น รวมถึงเครื่องจักรกลการเกษตร เช่น รถไถพรวน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตและการตลาดสร้างการตระหนักรู้ของบริโภคและเกษตรกรเกี่ยวกับผักปลอดภัย สร้างความเข้มแข็งของเกษตรกร/กลุ่มเกษตรกรผ่านกลไกสหกรณ์ ควรมีแผนบริหารจัดการสินค้าเกษตร การขยายพื้นที่ปลูก การทำเกษตรพันธะสัญญา ให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรม รวมถึงสนับสนุนให้เกษตรกรวางแผนการผลิตและเก็บเกี่ยว โดยกำหนดขนาด/ช่วงเวลาการผลิตอย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับปริมาณความต้องการสินค้าของผู้ประกอบการในพื้นที่
 
 

บันทึกโดย : วันที่ : 27 ต.ค. 2559 เวลา : 10:41:21

24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 8:17 pm