วันนี้ (27ต.ค.59) เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการติดตามการปฏิบัติงานตามนโยบายของรัฐบาล (คตน.) ครั้งที่ 6/2559 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
ประธานแจ้งที่ประชุมรับทราบเกี่ยวกับรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานติดตามการปฏิบัติงานตามนโยบายของรัฐบาลว่า นายกรัฐมนตรี รับทราบและให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวโดยได้มีข้อสั่งการถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและของนายกรัฐมนตรี รวมทั้งให้มีการรวบรวมบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ไว้เป็นหลักฐานด้วย
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้มีการหารือพิจารณาเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ในการติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล อาทิ การติดตามผลการดำเนินงานโครงการที่ใช้งบประมาณของรัฐจำนวนมาก ได้แก่ 1) โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่านเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ (สัญญาที่ 1-2) เพื่อปัญหาการขาดแคลนน้ำที่ยังมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงขึ้นในอนาคต โดยคาดว่าโครงการนี้ จะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำแม่กวงฯ ได้เพิ่มมากขึ้นเฉลี่ยปีละ 160 ล้าน ลบ.ม. ทำให้เพิ่มพื้นที่ชลประทานโครงการแม่กวงฯ ในฤดูแล้งจาก 17,060 ไร่ เป็น 76,129 ไร่ เพิ่มน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และอุตสาหกรรมเฉลี่ยจากปีละ 13.31 ล้าน ลบ.ม. เป็น 49.99 ล้าน ลบ.ม. รวมทั้งแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำแม่กวงตอนล่างได้อย่างมากอีกด้วย
และ2) โครงการบรรเทาอุทกภัย อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา (ระยะที่ 2) (สัญญาที่ 2-4) โดยดำเนินการใน อำเภอหาดใหญ่ อำเภอบางกล่ำ และอำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา และในปีงบประมาณ 2559 มีสัญญาผูกพันใหม่ 3 รายการ คือ ปรับปรุงคลองระบายน้ำ ร.1 พร้อมอาคารประกอบ สัญญาที่ 2 – 4 สำหรับความเป็นมาของการดำเนินการดังกล่าว สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2543 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช มีพระราชดำรัสต่อคณะบุคคลที่เข้าเฝ้าถวายพระพรชัยมงคล ณ ศาลาดุสิตาลัย เกี่ยวกับอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา สรุปความว่า “เมื่อวันที่ 22 – 23 พฤศจิกายน 2543 มีน้ำท่วมภาคใต้ โดยเฉพาะที่อำเภอหาดใหญ่ มีความเสียหายหลายพันล้านบาท ซึ่งถ้าได้ทำตามแผนที่วางไว้ตั้งแต่ปี 2531 ที่ลงทุนนั้นจะได้รับคืนมาหลายเท่าตัว” คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2543 จึงได้มีมติให้ดำเนินโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ ได้ดำเนินการขุดลอกคลองระบายน้ำเพิ่มจำนวน 7 สาย คือ ขุดคลองระบายน้ำ ร.1, 3-6 พร้อมอาคารประกอบ ขุดลอกคลองระบายน้ำ 1 ซ. – ร.1 และขุดลอกคลองระบายน้ำ 1 ข-1ซ-ร.1 สามารถระบายน้ำได้เร็วขึ้น 2.5 เท่า ต่อมาปี 2553 ฝนตกหนักติดต่อกัน 3 วัน เกิดน้ำท่วมตัวเมืองหาดใหญ่ ปริมาณน้ำ 1,623.50 ลบ.ม./วินาที ซึ่งน้ำล้นจากคลองอู่ตะเภา และคลอง ร.1 ใช้เวลาประมาณ 2 วัน สามารถระบายน้ำได้สู่ภาวะปกติ มีความเสียหายประมาณ 10,490 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงได้จัดทำโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่อันเนื่องมาจากพระราชำริ (เพิ่มประสิทธิภาพคลองระบายน้ำ ร.1)
ส่วนการจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำ กรมชลประทาน มีนโยบายบริหารจัดการน้ำ วางแผนการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำ เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในทุกกิจกรรมให้เพียงพอ ทั่วถึง เป็นธรรม ตามลำดับความสำคัญ ดังนี้ 1) เพื่อการอุปโภค บริโภค และการประปา 2) เพื่อการรักษาระบบนิเวศทางน้ำ เช่น การผลักดันน้ำเค็ม การขับไล่น้ำเสีย 3) เพื่อการเกษตรกรรม 4) เพื่อการอุตสาหกรรม รวมทั้งวางแผนการเพาะปลูกฤดูกาลผลิต ปี 2559/60 ในเขตพื้นที่ชลประทาน จำนวน 21.07 ไร่ (ข้าวนาปี 15.93 ล้านไร่) โดยเฉพาะในเขื่อนหลัก 4 แห่ง คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ขณะที่พื้นที่เพาะปลูกนอกเขตชลประทาน จะดำเนินการตามมติคณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) ของแต่ละพื้นที่ และแนะนำให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกตามฤดูกาลปกติ ในส่วนการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ได้ดำเนินการวางแผนจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศในฤดูแล้งจนถึงช่วงต้นฤดูฝน (พ.ค. – ก.ค.) เพื่อการเกษตรกรรม และอุตสาหกรรม
สำหรับการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปี 59/60 ที่ประชุมรับทราบถึงดำเนินการจัดสรรน้ำฤดูแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปี 2559 – 2560 จำนวน 2,950 ล้าน ลบ.ม. และสำรองสำหรับต้นฤดูฝนปี 2560 จำนวน 3,800 ล้าน ลบ.ม. รวมทั้งดำเนินการจัดการน้ำฤดูแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลอง อย่างน้อย 2,950 ล้าน ลบ.ม. โดยระบายจากเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ์ พร้อมทั้งบริหารจัดการน้ำ 6 เขื่อนน้อย (เขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนปราณบุรี เขื่อนลำตะคอง เขื่อนลูลบน เขื่อนลำแซะ และเขื่อนลำพระเพลิง) เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ จนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2560
พร้อมรับทราบการจัดทำแผนระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ดังนี้ 1) การจัดทำแผนเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังเนื่องจากฝนตกหนัก 2) จัดทำแผนการรับมือ 9 ขั้นตอน สำหรับสถานการณ์ฝนตกหนัก เช่น การติดตามสภาพอากาศจากเรดาร์ตรวจฝน การเตรียมเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่และติดตั้งเพิ่มเติมในจุดเสี่ยง แจ้งสถานการณ์แก่เจ้าหน้าที่ผ่านระบบวิทยุสื่อสาร และแอพพลิเคชั่นไลน์ ส่งหน่วยปฏิบัติการประจำจุดเสี่ยง ประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้ประชาชนทราบ
3) จัดทำแผนบริหารจัดการระบายน้ำในพื้นที่ กทม. อย่างยั่งยืน โดยดำเนินการ ดังนี้ (1) เพิ่มประสิทธิภาพคลองระบายน้ำสายหลักที่สำคัญ ดำเนินการในปี 2559 – 2575 (2) เพิ่มขีดความสามารถระบบท่อระบายน้ำ 46 โครงการ ดำเนินการในปี 2559 – 2563 (3) โครงการสร้างระบบระบายน้ำในถนนสายหลักโดยวิธีดันท่อใต้ดิน (pipe jacking) เพื่อลดผลกระทบกับสาธารณูปโภคและการจราจร จำนวน 16 โครงการ (4) เพิ่มขีดความสามารถในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง โดยการสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่เพิ่มเติม ดำเนินการในปี 2561 – 2566 (5) จัดหาพื้นที่ชะลอน้ำเพื่อจัดทำแก้มลิง ด้านตะวันออกของ กทม. พื้นที่ 885 ไร่ (6) เพิ่มขีดความสามารถของศูนย์ควบคุมน้ำท่วม อย่างไรก็ตามการจัดทำแผนการระบายน้ำจำเป็นต้องพิจารณาการจัดทำผังเมือง ทำให้ต้องใช้เวลาดำเนินการพอสมควร ขณะนี้ กทม. อยู่ระหว่างปรับปรุงผังเมืองรวมฉบับปัจจุบันที่ประกาศใช้ปี 2556
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการหารือและรับทราบความคืบหน้าการจัดระเบียบการทำประมงน้ำจืดและน้ำเค็ม ดังนี้ 1) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมงดำเนินการจัดทำระเบียบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อป้องกันการเกิดผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อมและความปลอดภัยต่อประชาชน โดยออกกฎกระทรวงกำหนดกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้เป็นกิจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุม พ.ศ. 2559 2) จัดทำระเบียบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อป้องกันการบุกรุกพื้นที่ทำการประมงและบุกรุกที่ที่เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน โดยออกกฎกระทรวงจัดทำระเบียบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่น้ำจืดและน้ำเค็ม กรณีการเพาะเลี้ยงหอยทะเลและการเลี้ยงปลาในกระชัง ขณะนี้ ผู้เพาะเลี้ยงได้มาจดแจ้งไว้กับกรมประมงแล้ว ซึ่งคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดจะออกประกาศหลักเกณฑ์อนุญาตต่อไป 3) กำหนดเขตรักษาพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อห้ามมีการบุกรุกจับสัตว์น้ำโดยเด็ดขาด แบ่งเป็นพื้นที่ชายทะเล 13 จังหวัด เนื้อที่ 22,296 ไร่ และพื้นที่นำจืด 73 จังหวัด เนื้อที่ 236,058 ไร่ 4) ดำเนินการแก้ไขปัญหากรณีใช้ความเค็มในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่จำกัด กรณีเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล ขณะนี้อยู่ระหว่างยกร่างกฎกระทรวงเพื่อเสนอกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความเห็นชอบ 5) จัดทำแผนร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อจัดทำระเบียบร่วมกันในลักษณะเกี่ยวกับการจัดรูปที่ดิน เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากการจัดระเบียบประมงน้ำจืดและน้ำเค็ม ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการจัดการประชุมเพื่อกำหนดแผนงาน
ข่าวเด่น