นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2559/60 ซึ่งจะออกสู่ตลาดมากในช่วงพฤศจิกายน – ธันวาคม 2559 นี้ โดยมีการดำเนินการทั้งมาตรการเพื่อยกระดับราคาภายในประเทศ และผลักดันการส่งออก ทั้งมาตรการระยะสั้น และมาตรการระยะยาว ดังนี้
มาตรการระยะสั้น
1. โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก โดยจะชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าว ที่กู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อรับซื้อข้าวเปลือกตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 ถึง 31 มีนาคม 2560 และเก็บสต็อกข้าวไว้ระยะเวลา 2 – 6 เดือน ในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ซึ่งขณะนี้ได้อนุมัติการเข้าร่วมโครงการของผู้ประกอบการที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 345 ราย วงเงินสินเชื่อที่รับซื้อข้าวเปลือก 85,917.87 ล้านบาท เป้าหมายการเก็บสต็อกประมาณ 8 ล้านตัน
2. โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก โดย ธ.ก.ส. จะให้สินเชื่อแก่ เกษตรกร สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน เพื่อชะลอการจำหน่ายข้าวเปลือกเก็บในยุ้งฉาง ราคาตันละไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท ณ ต้นข้าว 36 กรัม ขึ้นไป และเกษตรกรจะได้รับค่าเตรียมข้าวเปลือกขึ้นยุ้งและค่าฝากเก็บเพิ่มจากเงินสินเชื่ออีก ตันละ 1,500 บาท โดยจะจ่ายให้พร้อมสินเชื่อ 1,000 บาท และจ่ายเมื่อไถ่ถอนข้าวหรือระบายข้าวแล้ว ตันละ 500 บาท เป้าหมายการเก็บสต็อกประมาณ 2 ล้านตัน
3. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันสถาบันเกษตรกร โดย ธ.ก.ส. จะให้สินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร เพื่อนำไปซื้อข้าวจากสมาชิกเพื่อจำหน่ายหรือแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า ซึ่งสถาบันเกษตรกรจะรับภาระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 เป้าหมาย 2.5 ล้านตัน
4. โครงการจัดตลาดนัดข้าวเปลือก เพื่อให้กลไกลตลาดการรับซื้อข้าวเปลือกของเกษตรกรมีการแข่งขัน เกษตรกรมีช่องทางเลือกและมีอำนาจต่อรองการขายข้าวเปลือก พาณิชย์จังหวัดได้กำหนดแผนการจัดตลาดนัดในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากในพื้นที่แล้วจำนวน 42 จังหวัด 102 ครั้ง
อย่างไรก็ตาม ในส่วนการช่วยเหลือโดยตรงแก่เกษตรกร รัฐบาลได้มีมาตรการช่วยเหลือในช่วงก่อนการเพาะปลูก ได้แก่ มาตรการช่วยเหลือด้านปัจจัยการผลิต ไร่ละ 1,000 บาท ซึ่งเกษตรกรผลิตข้าว 1 ตัน ใช้พื้นที่เพาะปลูกประมาณ 2 ไร่เศษ ในส่วนนี้ เกษตรกรจะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้แล้วประมาณ 2 พันกว่าบาทต่อตัน ประกอบกับมาตรการขอความร่วมมือลดต้นทุนการผลิต ลดดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อการเพาะปลูก รวมทั้งการพักชำระหนี้ให้เกษตรกร ดังนั้น ในปีการผลิต 2559/60 อีกประมาณตันละ 1,000 บาท เกษตรกรจะได้รับรายได้เพิ่มจากการจำหน่ายผลผลิตข้าวเปลือกตามมาตรการดังกล่าวอีกไม่ต่ำกว่าตันละ 3,000 บาท
มาตรการระยะยาว
กระทรวงพาณิชย์จะดำเนินการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะยาว อาทิ การบริหารจัดการข้าวทั้งระบบให้สอดคล้องเป็นไปตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร โดยมุ่งเน้นให้การตลาดนำการผลิต (Demand Driven) วางแผนการผลิตข้าวให้สอดคล้องกับปริมาณและลักษณะความต้องการของตลาด
1. การรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับตลาดคู่ค้าสำคัญและขยายโอกาสทางการค้าไปยังตลาดใหม่ในภูมิภาคต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิมให้เข้มแข็งและสร้างกลุ่มลูกค้าใหม่ที่มีศักยภาพ ทั้งในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล และเอกชนต่อเอกชน
2. การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาโดยมุ่งสนับสนุนเรื่องพื้นฐานในการดำรงชีวิต เช่น ค่าครองชีพ และค่าศึกษาเล่าเรียนบุตร เป็นต้น
นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์ยังมีแผนเสริมเร่งด่วนเพื่อกระตุ้นการบริโภคและยกระดับราคาข้าว ดังนี้
1. กระตุ้นการบริโภคข้าวภายในประเทศ โดยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ความเข้าใจให้ผู้บริโภคได้รับรู้และเข้าใจถึงคุณค่าทางโภชนาการของข้าว คุณภาพแต่ละชนิดที่มีประโยชน์สูงและดีต่อสุขภาพ ข้าวอินทรีย์ ข้าว GI ข้าวสี เป็นต้น รวมทั้งส่งเสริมตลาดข้าวในกลุ่มผู้บริโภคที่เน้นสุขภาพและแพ้สารกลูเตนในข้าวสาลี ดังนั้น โอกาสที่ผลิตภัณฑ์จากข้าวไทยที่ไม่มีสารกลูเตน (Gluten Free) จะไปทดแทนผลิตภัณฑ์จากข้าวสาลีจะมีมากขึ้น
2. สร้างค่านิยมการบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก ทั้งข้าวขาว ข้าวหอมมะลิไทย และข้าวเหนียว เพื่อลดการบริโภคอาหารต่างชาติ
3. จัดตลาดนัดข้าวสารและข้าวเปลือก เพื่อเป็นแหล่งศูนย์กลางให้คนไทยได้ซื้อข้าวเพื่อเก็บไว้บริโภคในครัวเรือนตามแหล่งชุมชนในย่านต่าง ๆ และผ่านช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (online)
4. หารือกับสมาคมผู้ประกอบกิจการร้านอาหาร ภัตตาคาร และห้างสรรพสินค้า เพื่อให้เพิ่มปริมาณสำรองในการจัดซื้อข้าวไว้ใช้ในการดำเนินกิจการ
5. จัดกิจกรรม CSR ข้าวไทยร่วมใจช่วยชาวนา รณรงค์ให้ภาคเอกชนและประชาชน ซื้อข้าวเป็นของขวัญเพื่อ ส่งมอบให้กันในช่วงวันปีใหม่
6. การยกระดับราคาข้าวโดยการเร่งขยายตลาดในต่างประเทศ โดยกระทรวงพาณิชย์ได้จัดทำแผน Roadshow เร่งรัดหาตลาดส่งออกข้าวใหม่ๆรวมทั้งพบปะกับลูกค้าเดิมเพื่อรักษาตลาด และเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้มากขึ้น โดยจากนี้ไปกระทรวงมีแผน Road Show ที่จะบุกตลาดข้าวทั้งในลักษณะ G2G B2B และ B2C ดังนี้
ในระดับรัฐบาลต่อรัฐบาล (G2G) มีแผนจะเดินทางไป มาเลเซีย 1-2 พ.ย.59 อินโดนีเซีย 3-4 พ.ย.59 และฟิลิปปินส์ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 59 และเดินทางไปจีน อิหร่าน อิรัก และแอฟริกา ในเดือนธันวาคม 59 และกุมภาพันธ์ –เมษายน 60 ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้ผลักดันเรื่องการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับรัฐบาลและ ตลาดต่างประเทศที่เสียไป ให้หันกลับมาซื้อข้าวไทย โดยรัฐบาลได้ดำเนินการส่งมอบข้าวภายใต้สัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ และสามารถทำสัญญาเพิ่มเติมกับรัฐบาลต่างประเทศอีกปริมาณรวมกว่า 2,555,000 ตัน โดยแบ่งเป็นสัญญากับ COFCO สาธารณรัฐประชาชนจีน ปริมาณ 1,000,000 ตัน NFA สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ปริมาณ 900,000 ตัน BULOG สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ปริมาณ 655,000 ตัน ทำให้สามารถหาตลาดรองรับทั้งสต็อกข้าวเก่าและข้าวฤดูกาลผลิตใหม่ที่ออกสู่ตลาดได้ในปริมาณมาก
ในระดับเอกชน (B2B) จะมีคณะผู้แทนการค้าจาก จีน ฮ่องกง อาเซียน สหรัฐ คานาดา และยุโรป เดินทางมาเจรจาการค้า ที่ประเทศไทยในระหว่างวันที่ 13-16 พย. นี้ นอกจากนี้ยังมีแผนรุกตลาด เพิ่มเติม คือ คณะผู้แทนการค้าเดินทางไปขายข้าวที่จีนและฮ่องกงในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมกราคม 60 และช่วงเดือน กรกฎาคม 60 แผนจัดคณะไปยุโรป ตะวันออกกลาง และสหรัฐอเมริกา แคนาดาช่วงเดือน กุมภาพันธ์ มีนาคม มิถุนายน/กรกฏาคม 60 แผนไปญี่ปุ่นช่วง 7-10 มีนาคม 60 และไปย้ำตลาดอาเซียน คือ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และ เวียดนามในช่วง กลางปีหน้า โดยจะได้นำมาหารือกับภาคเอกชนในเร็วๆนี้
ในระดับผู้บริโภค (B2C) ในต่างประเทศ จะร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ จัดกิจกรรมร่วมกับ Thai Select รายภูมิภาค เพื่อรณรงค์บริโภคข้าวไทยไร้ Gluten โดยจะทำพร้อมๆกันเป็นรายภูมิภาค ส่วนจะเป็นเดือนไหนขณะนี้ได้สั่งการสำนักงานในต่างประเทศให้จัดทำแผนเข้ามาแล้ว นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์จะร่วมมือกับห้าง Tesco ในประเทศอังกฤษ จัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย โดยเน้น Theme ข้าวไทย ซึ่งกำลังเจรจากับบริษัทแม่ในอังกฤษ เพื่อจะจัดใน TESCO ประเทศอื่น ๆ ด้วยพร้อม ๆ กัน ซึ่งปัจจุบัน TESCO มีการลงทุนใน 12 ประเทศทั่วโลก และมีสาขากว่า 6,900 สาขา
ข่าวเด่น