เมื่อ 30 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาราคาข้าวเปลือก โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิที่มีราคาตกต่ำ ว่า รัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาข้าวแบบยั่งยืน โดยเริ่มตั้งแต่ชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนว่าข้าวไม่ได้ปลูกแค่ประเทศไทยเพียงประเทศเดียว ประเทศอื่นก็มีการปลูกเช่นกัน ดังนั้นระบบที่จะทำให้ข้าวราคาไม่ตกต่ำ ต้องเริ่มจากภาครัฐ ร่วมกับภาคเอกชน และเกษตรกร ซึ่งวงรอบการปลูกจะต้องมีความชัดเจนสอดคล้องกับระบบการบริหารจัดการน้ำ การปลูกพืชอย่างอื่นทดแทน หรือการใช้ระบบเกษตรผสมผสาน การปศุสัตว์ การปลูกพืชน้ำน้อย เพื่อทำให้ข้าวมีปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งจะส่งผลให้ราคาอยู่ในเกณฑ์ที่จะพึงพอใจ โดยที่ผ่านมาทุกภาคส่วนรู้มาตลอดว่า เมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวจะมีปริมาณข้าวออกมามาก รัฐบาลจึงได้กำหนดโครงการต่างๆออกมา โดยเฉพาะการชะลอไม่ให้ข้าวออกสู่ตลาดเร็วเกินไป รัฐบาลสนับสนุนในด้านของสินเชื่อ เพื่อไปดำเนินการในโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นการแก้ปัญหาข้าวอย่างยั่งยืน
"รัฐบาลคิดแผนในระยะยาวทุกด้าน ไม่ได้คิดเพียงว่าให้เงินลงไป ถ้าเป็นแบบนั้นถือเป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกจุด เกษตรกรอาจถูกใจที่ได้เงิน แต่ระบบเศรษฐกิจในภาพรวมประเทศเสียหาย เพราะอย่าลืมว่าประเทศไทยมีอีกหลายปัญหาที่ต้องทำ และแก้ไขควบคู่กันไป อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีเกษตรกรบางส่วนพยายามช่วยเหลือตัวเองด้วยการขายข้าวโดยตรง ไม่ผ่านผู้ประกอบการ บางคนใช้เทคโนโลยีโดยการขายแบบออนไลน์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีรับทราบและขอบคุณ พร้อมให้กำลังใจ แต่มีกลุ่มบุคคลที่ไม่หวังดีบอกว่าการขายตรงดังกล่าวผิดกฎหมายเรื่องการขายตรง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดยืนยันว่าไม่ผิดกฎหมาย สามารถทำได้"พล.ท.สรรเสริญ กล่าว.
พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า ในวันที่ 31 ต.ค.นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบาย และบริหารจัดการข้าว (นบข.) โดยคาดว่าจะมีมาตรการอื่นออกมาเพิ่มเติม เพื่อทำให้ระดับราคาข้าว อยู่ในเกณฑ์ที่เกษตรกรพึงพอใจ ส่วนมาตรการต่าง ๆ จะออกมาอย่างไร รวมทั้งจะแก้ปัญหาราคาข้าวเปลือก ที่มีคนออกมาระบุว่าราคากิโลกรัมละ 5 บาทนั้น คงต้องผลสรุปจากการประชุมในวันที่ 31 ต.ค.นี้.
ข่าวเด่น