ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตฯ ก.ย.59 ขยายตัว 0.6% คาดทั้งปีบวกแต่ต่ำกว่าเป้าหมาย1-2%


 


นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ก.ย.59 อยู่ที่ 107.77 ขยายตัว 0.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ MPI เป็นบวก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เครื่องประดับ, เครื่องปรับอากาศ, Semiconductor & IC เครื่องใช้ไฟฟ้า และเยื่อกระดาษ กระดาษและกระดาษแข็ง โดยภาพรวมมีอัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 65.23% จากระดับ 65.79% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน           ขณะที่ดัชนี MPI ช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.59) ขยายตัว 0.06% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนไตรมาสที่ 3/2559 ดัชนี MPI หดตัว 0.5% 

เป้าหมายเอ็มพีไอทั้งปีขยายตัวอยู่ที่ 1-2% แต่จากตัวเลข9 เดือนปีนี้  ทำให้ทั้งปีอาจน้อยกว่าเป้าหมายแต่ยังเป็นบวก เนื่องจากหากจะได้ตามเป้าหมายช่วง3 เดือนสุดท้ายของปีต้องขยายตัวตั้งแต่ 3.7-7.8% ต่อเดือนซึ่งเป็นไปได้ยาก

ทั้งนี้  สินค้าในอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ MPI ในเดือน ก.ย.59 ขยายตัว ได้แก่ เครื่องประดับ โดยการผลิตเพิ่มขึ้น 41.46% ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากเศรษฐกิจโดยรวมเริ่มปรับตัวดีขึ้น มีการสั่งซื้อสินค้ามากขึ้น
          
เครื่องปรับอากาศ และชิ้นส่วน การผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้น 25.29% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีการผลิตคอนเดนซิ่งยูนิต และแฟนคอยล์ยูนิตเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากการส่งออกเครื่องปรับอากาศเพิ่มขึ้น
          
ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากสินค้า Monolithic IC และ Other IC เป็นผลจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น
          
เครื่องใช้ในบ้านเรือน การผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้น 11.83% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากสินค้าประเภทพัดลมตามบ้าน เครื่องซักผ้า และเตาอบไมโครเวฟ เนื่องจากมีการขยายไลน์การผลิตเพิ่มขึ้นจากการขยายตลาดส่งออกต่างประเทศ
          
ส่วนเยื่อกระดาษ กระดาษ และกระดาษแข็ง การผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้น 13.39% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากสินค้าประเภท กระดาษพิมพ์เขียน    
          
สำหรับสินค้าในอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อ MPI ได้แก่ เครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ การผลิตเดือนก.ย. ลดลง 9.54% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จากการปรับแผนการผลิตเพื่อรองรับการปรับโฉมรถรุ่นใหม่ และเสื้อผ้าสำเร็จรูป (ผ้าทอ) การผลิตลดลง 8.28% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จากการประสบภาวะซบเซาของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ ยุโรป ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง
          
ในช่วงไตรมาส 3/59 อุตสาหกรรมสำคัญที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยในไตรมาส 3/59 การผลิตเพิ่มขึ้น 10.62% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าขยายตัว 18.96% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 
          
กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่ง, เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิต, ตู้เย็น, เครื่องซักผ้า เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัว 1.45% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการ IC ขยายตัวเพิ่มขึ้น จากการเป็นชิ้นส่วนสำคัญในการพัฒนาสินค้าที่มีการใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น
          
ด้านอุตสาหกรรมอาหาร ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.7% เนื่องจากสินค้าสำคัญ เช่น ข้าวและธัญพืชจากการวัตถุดิบเข้าสู่โรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังเพิ่มขึ้น สินค้าผักและผลไม้จากการผลิตน้ำผลไม้ที่เพิ่มขึ้นตามความต้องการบริโภคทั้งในและต่างประเทศ
          
ส่วนอุตสาหกรรมสำคัญที่ปรับตัวลดลงในไตรมาส 3/59 ได้แก่ อุตสาหกรรมรถยนต์ มีการผลิตรถยนต์ประมาณ 483,356 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.65% โดยเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศประมาณ 193,309 คัน เพิ่มขึ้น 4.65% และเป็นการส่งออก 305,903 คัน ลดลง 7.10% และอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ผลิตเพิ่มขึ้น 0.78% โดยการผลิตในกลุ่มเหล็กทรงแบนเพิ่มขึ้น 8.95% ส่วนการผลิตในส่วนเหล็กทรงยาวลดลง 9.62%




 

LastUpdate 31/10/2559 15:36:47 โดย : Admin

24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 5:08 pm