ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
อธิบดีกรมสบส. ส่งเจ้าหน้าที่สอบคลินิกย่านพัทยา ทำปาก 'ทรงกระจับ' จนติดเชื้อเสียโฉม


 


          
อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ส่งเจ้าหน้าที่สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ และฝ่ายกฎหมาย ประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรีลงตรวจสอบคลินิกที่ให้บริการเสริมความงาม ย่านบางละมุง หลังหญิงสาวที่ใช้บริการเข้าแจ้งความกับตำรวจว่า ผ่าตัดริมฝีปากบนทรงกระจับ จนติดเชื้อเสียโฉม ย้ำเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อโฆษณาผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย อย่าใจร้อนตกลงราคาก่อนเห็นสถานที่จริง

          
จากกรณี หญิงสาวรายหนึ่งเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ว่าเสียโฉมจากการผ่าติดริมฝีปากกับคลินิกที่ให้บริการเสริมความงามแห่งหนึ่ง ย่านอำเภอบางละมุง  โดยเข้ารับผ่าตัดเมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา และแผลผ่าตัดเกิดการติดเชื้อ เน่า โดยหญิงรายนี้ บอกว่าได้ทราบข้อมูลการให้บริการของคลินิกแห่งนี้ผ่านเฟซบุ๊ค ว่าให้บริการด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และเครื่องมือที่ได้มาตรฐาน จึงเข้ารับบริการเสริมความงาม  

          
ความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว วันนี้ (31 ตุลาคม 2559) นายแพทย์วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ได้มอบให้เจ้าหน้าที่สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ และฝ่ายกฎหมายของกรมฯ ประสานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี เข้าตรวจสอบคลินิกว่าได้รับอนุญาตเปิดกิจการและดำเนินการตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 หรือไม่ หากขึ้นทะเบียนถูกต้องจะต้องมีคุณภาพมาตรฐานทั้ง 5 ด้าน ประกอบด้วย 1.ความสะอาดสถานที่ 2.แพทย์ผู้ให้บริการเป็นแพทย์จริง มีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม และเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่โฆษณาในสื่อโซเชียลมีเดีย และแสดงที่หน้าคลินิกจริง 3.การให้บริการได้คุณภาพ มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด 4.เครื่องมือ  ยา เวชภัณฑ์ที่ให้บริการในคลินิกได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) 5.มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้บริการ

          
นายแพทย์วิศิษฎ์ กล่าวต่อว่า หากผลการตรวจพบว่าตกมาตรฐานข้อใดข้อหนึ่ง จะดำเนินการตามกฎหมายโดยไม่ละเว้น อาทิ หากเปิดคลินิกโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ  และหากแพทย์ที่ให้บริการผ่าตัดไม่มีวุฒิบัตรจากแพทยสภาตามที่โฆษณาคลินิก ก็จะมีความผิดฐานโฆษณาโอ้อวดเกินจริง มีโทษปรับ 20,000 บาท และปรับอีกวันละ 10,000 บาท จนกว่าจะยุติการเผยแพร่โฆษณานั้น  และส่วนด้านแพทย์จะผิดจริยธรรมของแพทยสภา ซึ่งจะมีโทษตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม โดยกรม สบส.จะส่งเรื่องให้แพทยสภาดำเนินการต่อไป

ทางด้าน นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ปัจจุบัน คลินิกที่ให้บริการเสริมความงามมักจะแข่งขันกันโดยโฆษณาผ่านสื่อโซเชียลมีเดียแขนงต่างๆ อาทิ เฟซบุ๊ค อินสตาแกรม โดยใช้ภาพที่สวยงามเกินจริง รวมทั้งราคาที่ถูกกว่าแห่งอื่น ดึงดูดผู้รับบริการ จากการดำเนินคดีคลินิกที่ผิดกฎหมาย พบว่า ทั้งหมดมีการโฆษณาเกินจริง ทั้งสถานที่ ผลการรักษา และความเชี่ยวชาญของแพทย์ไม่ได้เป็นไปตามที่โฆษณา จึงถือว่าหลอกลวงประชาชน ซึ่งกรม สบส.ได้เร่งกวาดล้างมาโดยตลอด แต่ยังพบการกระทำผิด จึงขอความร่วมมือประชาชนช่วยเป็นหู เป็นตาแจ้งเบาะแส และขอย้ำอย่าหลงเชื่อโฆษณาให้พิจารณาอย่างถี่ถ้วน อย่าตกลงราคาล่วงหน้า ควรไปดูคลินิกด้วยตนเองก่อน และตรวจสอบหลักฐานมาตรฐานคลินิก จะต้องปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ คือ 1.ป้ายชื่อคลินิกที่ติดหน้าร้าน ต้องเห็นชัดเจนและแสดงเลขที่ใบอนุญาต 11 หลัก
 
2.ภายในคลินิกจะต้องแสดงใบอนุญาตประกอบกิจการ ใบอนุญาตดำเนินการของแพทย์ หลักฐานการชำระค่าธรรมเนียมประจำปีปัจจุบัน 3.รูปถ่ายของแพทย์หน้าห้องตรวจต้องตรงกับผู้ให้บริการ โดยสามารถตรวจสอบแพทย์ผู้ให้บริการที่ปรากฏในรูปถ่ายได้ที่เว็บไซต์แพทยสภา (www.tmc.or.th) และตรวจสอบคลินิกที่ถูกต้องตามกฎหมายได้ที่เว็บไซต์กรม สบส. (www.hss.moph.go.th) ซึ่งจะสามารถทราบผลได้ภายในไม่ถึงหนึ่งนาที และหากพบคลินิกใดมีหลักฐานข้างต้นไม่ครบ ก็ไม่ควรใช้บริการและให้รีบแจ้งที่สายด่วนคุ้มครองผู้บริโภค 02 193 7999 หรือเฟซบุ๊ค : สารวัตรสถานพยาบาลออนไลน์, มือปราบสถานพยาบาลเถื่อน กรม สบส.จะเร่งดำเนินการทางกฎหมายทันที





 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 31 ต.ค. 2559 เวลา : 13:12:50

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:43 am