ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยรายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือนกันยายนและไตรมาสที่ 3 ปี 2559 เศรษฐกิจไทยในเดือนกันยายน 2559 ขยายตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน ตามการใช้จ่ายภาครัฐที่ยังขยายตัวดีและเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจ ประกอบกับมูลค่าการส่งออกปรับดีขึ้นพร้อมกันหลายสินค้า จึงช่วยชดเชยภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มได้รับผลจากการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญ สำหรับการลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้นบ้างในบางธุรกิจ สะท้อนจากการนำเข้าสินค้าทุนที่เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออก ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัว แต่ในอัตราที่ชะลอลงบ้างเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมาตามการใช้จ่ายหมวดสินค้าไม่คงทน
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมันในประเทศ อัตราการว่างงานทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่องตามดุลการค้าที่มูลค่าการส่งออกปรับดีขึ้น ขณะที่มูลค่าการนำเข้ายังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งช่วยชดเชยการขาดดุลบริการ รายได้ และเงินโอนในเดือนนี้
รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยมีดังนี้
การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวดีต่อเนื่องทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน โดยเฉพาะในส่วนของค่าตอบแทนบุคลากร และรายจ่ายโครงการด้านคมนาคมและชลประทาน ตามลำดับ ด้านรายได้จัดเก็บของรัฐบาลขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนตามรายได้ภาษีเป็นสำคัญ ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้น ขณะที่รายได้ที่มิใช่ภาษีหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนจากผลของฐานสูง เนื่องจากรัฐบาลเร่งจัดเก็บรายได้เพิ่มเติมจากรัฐวิสาหกิจบางแห่งในช่วงดังกล่าว
มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่สองที่ร้อยละ 3.5 จากระยะเดียวกันปีก่อน ซึ่งหากไม่รวมการส่งออกทองคำ มูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 3.9 โดยเป็นการขยายตัวในหลายหมวดสินค้า ส่วนหนึ่งมาจากหมวดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับผลดีจากการผลิตสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ รวมทั้งหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ผู้ผลิตขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นในหลายตลาดโดยเฉพาะ CLMV ยุโรป และสหรัฐฯ และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากมูลค่าการส่งออกสินค้าที่หดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนในอัตราที่ลดลงตามทิศทางราคาน้ำมันดิบ ทั้งนี้ การส่งออกที่ทยอยปรับดีขึ้นสอดคล้องกับดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับดีขึ้นเช่นกัน
การลงทุนภาคเอกชนโดยรวมทรงตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน แต่มีทิศทางปรับดีขึ้นบ้างจากเดือนก่อนตามการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากการนำเข้าสินค้าทุนที่เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออก นอกจากนี้ การลงทุนในกลุ่มพลังงานทดแทนยังคงมีต่อเนื่อง โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าที่ได้รับผลดีจากนโยบายสนับสนุนของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างโดยรวมอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อนเพราะแม้ภาครัฐบาลมีการลงทุนต่อเนื่อง ซึ่งทำให้เกิดการก่อสร้างของภาคเอกชนตามมา แต่ในขณะเดียวกัน ตลาดอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวเนื่องจากอุปสงค์ต่ำลงหลังจากหมดมาตรการภาครัฐ
สำหรับมูลค่าการนาเข้าสินค้าขยายตัวร้อยละ 1.7 จากระยะเดียวกันปีก่อน ซึ่งหากไม่รวม การนำเข้าทองคำ มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 0.3 จากการขยายตัวในหลายหมวดสินค้า โดยหมวดสินค้าทุนขยายตัวตามการนำเข้าหม้อแปลงและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า สอดคล้องกับการลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนที่ยังมีอยู่ต่อเนื่อง และการนำเข้าเครื่องจักรในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่การส่งออกมีแนวโน้มปรับดีขึ้น เช่นเดียวกับมูลค่าการนำเข้าหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่เพิ่มขึ้นตามการผลิตสินค้าดังกล่าว
การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนในอัตราที่ชะลอลงบ้างเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา ตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สอดคล้องกับปัจจัยสนับสนุนการบริโภคโดยรวมที่ยังไม่เข้มแข็งนัก สะท้อนจากรายได้นอกภาคเกษตรกรรมที่ทรงตัว ประกอบกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับลดลงบ้างจากเดือนก่อนที่ได้รับผลดีจากผลประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญและตัวเลข GDP ในไตรมาสที่สองที่ดีกว่า การคาดการณ์ของตลาด
ภาคการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศขยายตัวสูงถึงร้อยละ 18.3 จากระยะเดียวกันปีก่อน เป็นผลจากฐานที่ต่ำจากเหตุระเบิดในกรุงเทพฯ ในเดือนสิงหาคม 2558 อย่างไรก็ตาม เมื่อขจัดผลของฤดูกาลแล้วจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศลดลงร้อยละ 2.1 จากเดือนก่อน ตามจำนวนนักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นผลจากการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญเป็นสำคัญ ขณะที่เหตุระเบิดใน 7 จังหวัดภาคใต้ในเดือนที่ผ่านมาส่งผลเพียงเล็กน้อย
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งตัวเล็กน้อยจากเดือนก่อนตามราคาน้ำมันในประเทศ ขณะที่อัตราการว่างงานทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมอาหารและอิเล็กทรอนิกส์ ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากดุลการค้าตามมูลค่าการส่งออกที่ปรับดีขึ้น ขณะที่มูลค่า การนำเข้ายังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งช่วยชดเชยการขาดดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลตามรายได้จาก การท่องเที่ยวที่ลดลง ประกอบกับเป็นรอบการส่งกลับกำไรและเงินปันผลของบริษัทต่างชาติในไทย สำหรับดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิจากการชำระคืนเงินกู้ในเครือ รวมทั้งการออกไปลงทุนโดยตรง ในต่างประเทศของภาคธุรกิจไทยและการลงทุนในหลักทรัพย์ของนักลงทุนไทย อย่างไรก็ดี ในขณะเดียวกัน มีเงินลงทุนในหลักทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างประเทศไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ขยายตัวจากการใช้จ่ายของภาครัฐ การบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ต่อเนื่องตามความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ดีขึ้นจากไตรมาสก่อนจากปัจจัยภายในประเทศ และรายได้เกษตรกรที่ทยอยปรับดีขึ้นหลังผลของภัยแล้งคลี่คลาย นอกจากนี้ ภาคการส่งออกเริ่มมีทิศทางปรับดีขึ้น ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้แม้มีเหตุระเบิดและการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญ
อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนจากการนำเข้าสินค้าทุนที่ยังคงต่ำกว่าในปีที่แล้วและการลงทุนในหมวดก่อสร้างที่ชะลอตัวตามภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน เพราะราคาอาหารสดชะลอลงหลังพ้นภัยแล้ง อัตราการว่างงานลดลงเล็กน้อยตาม การจ้างงานในภาคเกษตรกรรมที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากรายได้ภาคการท่องเที่ยวที่ดีในช่วงก่อนเกิดเหตุระเบิดใน 7 จังหวัดภาคใต้และการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญ และมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ยังอยู่ในระดับต่ำ
ข่าวเด่น