ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กรมควบคุมโรคเผย 5 วิธีสร้างความตื่นตัวขณะขับรถทางไกล


 


กรมควบคุมโรค แนะเตรียมคนขับและตรวจสภาพรถให้พร้อม ก่อนเดินทางมากรุงเทพฯ พร้อมเผย 5 วิธีสร้างความตื่นตัวขณะขับรถทางไกล

วันนี้ (31 ตุลาคม 2559) นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้มีประชาชนเดินทางมาร่วมพิธีถวายสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจำนวนมาก  โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่เริ่มทะยอยเดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ ทั้งรถโดยสารประจำทาง รถเหมามาเป็นหมู่คณะ และรถยนต์ส่วนตัว  ซึ่งกรมควบคุมโรค ได้มอบหมายให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 12 แห่งทั่วประเทศ ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ ให้ความรู้ แจกแผ่นพับ หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ และคำแนะนำการปฏิบัติตัวแก่ประชาชนในการป้องกันควบคุมโรคตามสถานที่ที่มีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก โดยเฉพาะจุดปล่อยรถโดยสาร ซึ่งทำให้ในระยะนี้มีการใช้รถใช้ถนนจำนวนมาก ประกอบกับยังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดอบัติเหตุได้ง่าย ยิ่งเป็นการขับระยะไกลด้วย ผู้ขับขี่จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ
         
กรมควบคุมโรค ขอแนะนำให้ประชาชนเตรียมพร้อมก่อนการเดินทางไกล ดังนี้ 1.เตรียมคนขับ โดยพักผ่อนให้เพียงพอ ควรมีการแวะพักเพื่อปรับเปลี่ยนอิริยาบถเป็นระยะ เพื่อป้องกันอาการง่วงนอน และต้องขับรถด้วยความระมัดระวัง ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ที่สำคัญต้องไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮลล์ทุกชนิดหรือทานยาที่ทำให้ง่วง เช่น ยาลดน้ำมูก ยาภูมิแพ้ ยาแก้ไอ เป็นต้น  2.เตรียมสภาพรถ โดยการตรวจเช็คลมยาง ไฟส่องสว่างและไฟเลี้ยว ตรวจระบบเบรกให้มีความสมบูรณ์และใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ ตรวจสอบน้ำกลั่นในหม้อแบตเตอรี่ เติมน้ำมันเครื่องให้พร้อม และควรมีเครื่องมือประจำรถและอะไหล่ต่างๆสำรองติดรถเอาไว้
 
           
นายแพทย์เจษฎา กล่าวต่อไปว่า ระหว่างการขับรถทางไกล ผู้ขับควรสร้างความตื่นตัวให้กับตัวเอง 5 วิธีดังนี้  1.เปิดหน้าต่างเป็นระยะเพื่อการถ่ายเทอากาศ 2.สวมแว่นตากันแดดหรือใช้ที่บังแดดเพื่อลดแสงจ้าหรือแสงสะท้อนที่ทำให้มองเห็นไม่ถนัดขณะขับรถในช่วงที่แสงแดดแรง  3.หลีกเลี่ยงการขับรถติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรแวะพักเป็นระยะหรือมีคนขับสับเปลี่ยนกัน 4.ช่วงรถติดหรือติดไฟแดงสามารถลดอาการเมื่อยล้าของสายตาและกล้ามเนื้อ โดยมองไปยังต้นไม้สีเขียวหรือหลับตาพักสายตาสักครู่ และนวดบริเวณต้นคอและบ่า 2 ข้าง และ 5.ควรหยุดพักบ่อยๆ จิบน้ำหรือหาเครื่องดื่มมาช่วยเพิ่มความสดชื่น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่มร้อนหรือเย็นเพื่อให้ตื่นตัวตลอดเวลา
           
ส่วนคำแนะนำในการขับขี่ช่วงฝนตก คือ 1)เปิดไฟหน้ารถเสมอ โดยเปิดไฟต่ำ  2)เปิดใบปัดน้ำฝน โดยปรับความเร็วใบปัดน้ำฝนให้สัมพันธ์กับความแรงและปริมาณฝนตก 3)ลดความเร็ว เพื่อเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น 4) ให้ทิ้งระยะห่างจากคันหน้า เพราะสภาพถนนที่เปียกลื่น ต้องใช้ระยะทางในการหยุดรถเพิ่มขึ้น 5)หลีกเลี่ยงการแซง แต่หากจำเป็นต้องประเมินสถานการณ์ ความเร็วและระยะห่างของรถทั้งในช่องซ้ายและขวาให้ดีก่อน และ 6)รถลื่นไถลหรือเหินน้ำ ห้ามเหยียบเบรกจนล้อหยุดหมุนในทันที เพราะรถอาจพลิกคว่ำได้ ให้แก้ไขโดยลดความเร็ว ใช้เกียร์ต่ำ จนกว่ารถจะทรงตัวได้ แล้วจึงค่อยเหยียบเบรกเพื่อหยุดรถ   
          
“ขอให้ประชาชนเดินทางด้วยความปลอดภัย อย่าลืมคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง ที่สำคัญหากพบเห็นผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ขอให้โทรแจ้งขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ โทร 1669  ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ความชำนาญ จะเกิดความปลอดภัยกับผู้บาดเจ็บมากขึ้น  หากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422” นายแพทย์เจษฎา กล่าวทิ้งท้าย
 


 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 31 ต.ค. 2559 เวลา : 16:23:37

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:40 am