ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กฟผ. เดินหน้าพัฒนาพลังงานอัจฉริยะ จ.แม่ฮ่องสอน ต้นแบบระบบไฟฟ้าแสงอาทิตย์


 


กฟผ. เดินหน้าพัฒนาพลังงานอัจฉริยะ จ.แม่ฮ่องสอน เป็นต้นแบบระบบไฟฟ้าแสงอาทิตย์ประสิทธิภาพสูงและยั่งยืน

กฟผ. จ้างบริษัทที่ปรึกษา เดินหน้าโครงการพัฒนาพลังงานอัจฉริยะ จ.แม่ฮ่องสอน ตามแผนแม่บทกระทรวงพลังงาน เพื่อพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศไทย ให้มีขีดความสามารถของระบบไฟฟ้า (Smart System) และคุณภาพบริการที่มีต่อผู้ใช้ไฟฟ้า (Smart Life) เพิ่มขึ้น ตลอดจนพัฒนาโครงสร้างระบบไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Society) นำร่องในระดับประเทศ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ว่าที่ พันตรี อนุชาต ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการชุมชนสัมพันธ์และสิ่งแวดล้อมโครงการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. จะพัฒนาโครงการนำร่องการพัฒนาสมาร์ทกริด ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศไทย ซึ่งได้ผ่านการเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2559 โครงการดังกล่าว ประกอบด้วยแนวคิด 4 ด้าน คือ Smart Energy พัฒนาระบบด้านการจัดหาไฟฟ้า โดยพึ่งพาพลังงานหมุนเวียนในพื้นที่ Smart System มีระบบควบคุมและปฏิบัติการทางไฟฟ้าเป็นตัวกลางประสานเชื่อมโยงระหว่างภาคการผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ Smart City พัฒนาระบบ เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้ามีส่วนร่วมต่อการรักษาระดับความมั่นคงและประสิทธิภาพของระบบ และ Smart Learning การพัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้คู่ชุมชน ซึ่งโครงการนี้ได้ถูกออกแบบให้สอดคล้องกับโครงสร้างการดำเนินงานของระบบไฟฟ้าในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้าให้สามารถรองรับภัยพิบัติทางธรรมชาติได้ เป็นต้นแบบเศรษฐกิจสีเขียว แหล่งท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิต พลังงาน และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งเป็นต้นแบบของเมืองที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

ขณะนี้ กฟผ.ได้จ้างที่ปรึกษา บริษัท อีอาร์เอ็ม-สยาม จำกัด ศึกษาและจัดทำรายงานประมวลหลักการปฏิบัติ (Cop of Practice : CoP) สำหรับการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จากเทคโนโลยีแผงไฟโตโวลเทอิก โครงการพัฒนาพลังงานอัจฉริยะ จังหวัดแม่ฮ่องสอน (Maehongson Smart Energy Development Project) ซึ่งจะติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ขนาดกำลังผลิต 3 เมกะวัตต์ และระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ ขนาด 4 เมกะวัตต์, 1 เมกะวัตต์-ชั่วโมง ครอบคลุมตั้งแต่ระยะเตรียมการโครงการ ระยะก่อสร้าง และระยะดำเนินการ ตลอดจนกรณีที่มีการรื้อถอนอาคาร เครื่องจักร หรืออุปกรณ์สำหรับใช้เป็นเอกสารประกอบการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินการของโครงการฯ จัดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและการรับฟังความคิดเห็นหรือให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินโครงการ ตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานว่าด้วยการรับฟังความเห็นและทำความเข้าใจกับประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า พ.ศ.2559 ซึ่งจะศึกษาแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 จากนั้นจะนำรายงานดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบการยื่นขอใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าต่อไป
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 31 ต.ค. 2559 เวลา : 16:51:50

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:54 am